xs
xsm
sm
md
lg

เภสัชฯตบเท้าค้านร่างปรับปรุง กม.วิชาชีพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มเภสัชกรฯ เตรียมบุกสภาเภสัชกรรมที่ สธ. คัดค้านร่างปรับปรุง พ.ร.บ.วิชาชีพฯ หลังไม่ผ่านประชาพิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยผลักดันร่างฉบับปรับปรุง ทั้งที่กำลังทำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพใหม่ จี้ถอนร่าง พ.ร.บ. ออกจากการพิจารณา และเปิดประชุมใหญ่วิสามัญระดมความเห็นเภสัชฯทั่วประเทศปรับเปลี่ยนกฎหมาย

ภก.สงัด อินทร์นิพัฒน์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานกลุ่มเภสัชกรคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 ฉบับปรับปรุง ว่า วันที่ 17 พ.ย. เวลา 09.00 น. ทางกลุ่มฯ จะเดินทางไปยังสภาเภสัชกรรม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้สภาเภสัชฯ ถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้ผ่านความคิดเห็นจากสมาชิกเภสัชกรทั่วประเทศ โดยจะขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อระดมความคิดเห็นของเภสัชกรทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้มานาน และควรเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย

ทางกลุ่มฯ ขอให้สภาเภสัชฯ ทำตามขั้นตอนและความถูกต้อง โดยรับฟังความเห็นจากเภสัชกรอื่นๆ ด้วย โดยขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงนี้เสีย และเปิดประชุมใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นว่าจะเดินหน้าปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นใหม่อย่างไรต่อไป เพราะทราบมาว่าเดิมทีสภาเภสัชฯ ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมใหม่ขึ้นมาแทนฉบับปี พ.ศ. 2537 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมทำไมไม่รอร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ แต่กลับผลักดันฉบับปรับปรุงแทน” ภก.สงัด กล่าว

ภก.สงัด กล่าวว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงนั้น มีการปรับปรุง 2 เรื่อง คือ 1. คำนิยามที่เปลี่ยนไปในมาตรา 3 โดยระบุว่า การปรุงยาและจ่ายยาให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ จากเดิมจะเป็นเภสัชกร ซึ่งตรงนี้จะมีความเสี่ยง เพราะบุคลากรวิชาชีพอื่นอาจไม่ได้ศึกษาด้านเภสัชกรรมมาโดยตรง ที่สำคัญจะขัดกับร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... ที่ร่างขึ้นแทน พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ที่ก่อนหน้านี้สภาเภสัชฯก็ออกมาคัดค้าน เพราะเหมือนว่าร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่เปิดช่องให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ จึงต้องคัดค้านกัน ทำให้สงสัยว่า ขณะที่คัดค้านมาตลอด เพราะเหตุใดการปรับปรุง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ จึงไม่ล้อตามกันไป และ 2. การให้มีการต่อใบอนุญาตวิชาชีพฯ ทุกๆ 5 ปี จากเดิมตลอดชีพ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรับประกันมาตรฐานวิชาชีพ แม้จะเป็นเหตุผลดี แต่กลับไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการต่อใบอนุญาตใดๆ และไม่ควรใช้วิธีนี้กับเภสัชกรรุ่นเก่าๆ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนใหม่ควรใช้กับเภสัชกรรุ่นใหม่ๆ ดีกว่า

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น