สธ.มอบที่วิชาการศึกษาวิธีป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเจ้าหน้าที่ผ่านเล็บมือ ชี้ทาวาสลีนเหมาะสุด
วันนี้ (8 พ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเสียชีวิตจำนวนมากนั้น ในจำนวนนี้มีกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนหนึ่ง พบว่าส่วนหนึ่งเกิดการติดเชื้อผ่านทางเล็บ และมือ นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่มีความเป็นไปได้สูงเพราะเมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องสวมถุงมือเป็นเวลานานจะทำให้มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังจะอ่อนนุ่มทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่จึงมีการป้องกันตัวเองด้วยการทากาว หรือวาสลีนที่เล็บป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ตนจึงได้มอบหมายให้ทีมนักวิชาการด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ศึกษาว่าสมควรเพิ่มเข้าไปในแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่เรื่องการสวม และถอดอุปกรณ์ป้องกันตัวหรือด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกับแอฟริกายังมีความแตกต่างกันในเรื่องของสภาพอากาศอยู่ เพราะโรงพยาบาลสนามที่แอฟริกาจะเปิดโล่งและร้อนทำให้เหงื่อออกได้ง่าย แต่ของไทยเนื่องจากไม่ใช่การระบาดของอีโบลา การสวมอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ส่วนใหญ่ทำใน รพ.มีระบบควบคุมความเย็นจึงไม่มีเหงื่อ แต่จำเป็นต้องมีการหารือกันเอาไว้เพื่อให้เป็นมาตรฐานของโรคติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาที่ปรึกษาด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค และสถาบันบำราศนราดูรได้หารือร่วมกันตลอด
“ที่ผ่านมาเราจะมีแค่แนวปฏิบัติเรื่องการสวม การถอดชุดต่าง ส่วนเรื่องมือเรื่องเล็บก็กำหนดแค่ว่าต้องตัดเล็บให้สั้น แต่ไม่ใช่สั้นกุด ตอนนี้อาจจะต้องมาพิจารณาเพิ่มเติม คิดว่าวาสลีนน่าจะเหมาะสมที่สุด โดยให้ทาเฉพาะที่เล็บ ไม่ใช่ทั่วทั้งมือ ไม่อย่างนั้นจะลื่น สวมถุงมือไม่ได้” รองปลัด สธ.กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่