xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางเวทีแข่งขันนานาชาติ บนความหวังที่มากกว่ารางวัลการันตี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลแห่งความพยายามและมุ่งมั่น
โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

แม้ภาพรวมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยในเวลานี้จะไม่น่าพึงใจนัก แต่หากเจาะเฉพาะกลุ่มกลับพบว่าเรามีเด็กไทยที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้านทั้งวิชาการ ดนตรี ศิลปะอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะด้านวิชาการมีหลายเวทีที่เด็กไทยได้โชว์ศักยภาพของตนเองจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด..ในการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ระดับประถมศึกษา Wizards at Mathematics International Competition (WIZMIC 2014) ระหว่างวันที่ 17 - 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองลัคเนา สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งมี 9 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ศรีลังกา ไทย และ อินเดีย ส่งนักเรียนร่วมการแข่งขันจำนวน 172 คน ในส่วนของไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกตัวแทนนักเรียนระดับประถมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 4 ทีมๆ ละ 4 คน รวม 16 คน โดยนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลรวมทั้งสิ้น 24 รางวัล จำนวน 48 เหรียญ แบ่งเป็น เหรียญทอง 19 รางวัล จำนวน 37 เหรียญ และเหรียญเงิน 5 รางวัล จำนวน 11 เหรียญ จากการแข่งขันใน 3 ประเภท คือ ประเภทบุคคล ประเภททีม และประเภทกลุ่มบุคคล

ทุกการแข่งขันมีที่มา นางนิจวดี เจริญเกียรติบวร รองผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. อธิบายว่า สำนักพัฒนานวัตกรรมฯ ได้จัดทำโครงการการพัฒนาการเรียนรู้สู่สากล เน้นการทำงานใน 2 มิติ คือ มิติแรก โครงการแข่งขันทางวิชาการนานาชาติ ซึ่งมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีความสามารถทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ได้รับการพัฒนาตรงตามศักยภาพผ่านการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ และมิติที่สอง ต่อยอดจากโครงการแข่งขันฯ ด้วยการพัฒนาเนื้อหาสาระหลักสูตรการเรียนทั้ง 2 วิชาให้ทันสมัยเป็นสากล และมีความเข้มข้นกว่าหลักสูตรปกติ โดยถอดประสบการณ์จากเนื้อหาข้อสอบที่ใช้แข่งขัน รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาเทคนิคครู ในส่วนของเด็กก็มุ่งสร้างและปลูกฝังให้มีความรักและมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทย์และคณิต เพื่อหวังผลักดันให้เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่เติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต

การได้แข่งขันในเวทีระดับนานาชาติก็เป็นโอกาสให้นักเรียนไทยได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการและวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้มุ่งสร้างเด็กสู่ความเป็นเลิศเพื่อมาแข่งขันเท่านั้น แต่หวังให้เวทีแข่งขันเป็นแรงบันดาลใจ สร้างแรงกระตุ้นทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน พ่อแม่ สังคมร่วมกันพัฒนาศักยภาพเด็กไทย และตลอดเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมาจากการเฟ้นหานักเรียนไทยที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วประเทศ ก็ทำให้เราได้ค้นพบว่าเรามีเด็กเก่งระดับหัวกะทิจำนวนมากแฝงตัวอยู่ทุกภาคของประเทศ” นางนิจวดี กล่าว

เส้นทางการสู่ชัยชนะไม่ใช่แค่เดินเข้าห้องแข่งขันทำข้อสอบทันเวลาก็สำเร็จได้ แต่ต้องฝึกฝนต่อเนื่อง โดย น้องหลิว หรือ ด.ช.กีรติ สุธีรยงประเสริฐ โรงเรียนอนุบาลสุโขทัย เจ้าของรางวัล 3 เหรียญทองในทุกประเภทการแข่งขันจากเวที WIZMIC 2014 กล่าวด้วยน้ำเสียงฉะฉาน ว่า แน่นอนว่าข้อสอบในเวทีโอลิมปิก เวทีนานาชาตินั้นมีความยาก แต่สำหรับตนและคนที่จะมาร่วมแข่งขันย่อมต้องรู้ตัวเองดีว่าเราต้องฝึกฝนให้เพียงพอและสม่ำเสมอ ซึ่งตนนั้นก่อนจะมาร่วมแข่งขันครั้งนี้ก็เตรียมตัวเวลาเรียนก็เหมือนเพื่อนๆ แต่ตนจะทำตารางเวลาเอาไว้ว่าเมื่อกลับถึงบ้านทำการบ้านเสร็จ จะใช้เวลาทบทวนแบบฝึกหัด 1 - 2 ชั่วโมง จากนั้นก็จะสลับไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง เช่น เล่นเปียโน ระนาด เป็นต้น ซึ่งตารางเวลาเหล่านี้ตนกำหนดเองและทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ เป็นการสร้างวินัยให้ตนเองด้วย

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจคณิตศาสตร์ คือ ตอน ป.2 ผมไปเรียนพิเศษและได้รับโอกาสไปแข่งขัน ผมมีความรู้สึกว่าคณิตฯ ทำแล้วสนุก ตั้งแต่นั้นก็หมั่นฝึกตนเองมาเรื่อยๆ ทั้งอ่านและทำโจทย์คณิตฯจนค้นพบว่า คณิตศาสตร์คือความงามอย่างมีเหตุผล สำหรับผลการแข่งขันที่ออกมาได้รับรางวัลเหรียญทองทุกประเภทการแข่งขันก็รู้สึกดีใจมาก และรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับเลือกมาแข่งขันครั้งนี้ผมได้ประสบการณ์จากการแข่งขัน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนอินเดียว่าเขาเป็นอยู่อย่างไร รวมไปถึงได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของเพื่อนนักเรียนจากประเทศอื่นๆ ด้วย” น้องหลิว กล่าว

ขณะที่ ด.ช.รวัชญ์ ผดุงเกียรติวงษ์ หรือ น้องฟรีซ โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย เจ้าของรางวัล 3 เหรียญทองในทุกประเภทการแข่งขัน บอกว่า ก่อนหน้านี้ เคยร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ฯ ที่ประเทศสิงคโปร์แต่ได้รับรางวัลชมเชย มาครั้งนี้ตนเตรียมตัวเข้มข้นกว่าเดิม มีการฝึกฝนทำแบบฝึกหัดจากโจทย์การแข่งขันของปีก่อนๆ สม่ำเสมอจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจมาก สำหรับตนแล้วคณิตฯ ไม่ใช่เรื่องยากแต่สอนให้เราได้คิด ได้คำนวณโดยรู้ตัวว่าถนัดและสนใจวิชาคณิตฯ มาตั้งแต่ชั้น ป.1 ซึ่งที่บ้านก็ให้การสนับสนุนและตนก็ไม่ได้เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังแบ่งเวลาไปร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน หรือเล่นเกมที่ชอบเป็นการพักผ่อนด้วย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันครั้งนี้ให้ประสบการณ์ที่ดีมากมาย ทำให้ตนมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนๆ จากชาติอื่นๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้แลกเปลี่ยนความรู้วิชาการและแลกของขวัญเพื่อที่ระลึกแก่กัน และยังได้เห็นความเป็นอยู่ของคนอินเดียด้วย

รางวัลเหล่านี้เป็นหนึ่งบทพิสูจน์ศักยภาพของเด็กไทย และเป็นเครื่องสะท้อนว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถที่จะกำหนดธงเพียงหนึ่งและใช้พัฒนากับเด็กไทยทั้งประเทศ แต่ต้องวางแนวทางยกระดับการศึกษาให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละคน เพราะทุกคนคือมันสมองสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต
มีเวลาว่างก็มาช่วยกันทำแบบฝึกหัด
บรรยากาศภายในสนามแข่งขัน
คณะอาจารย์และตัวแทนนักเรียนประถมทั้ง 16 คน

เตรียมตัวก่อนเข้าสู่สนามแข่งขัน

ด.ช.รวัชญ์ ผดุงเกียรติวงษ์ หรือ น้องฟรีซ
น้องหลิว หรือ ด.ช.กีรติ สุธีรยงประเสริฐ
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น