xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (4) ต้องทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันก่อนเจอคุณแม่ท่านหนึ่งกำลังนั่งดูลูกวัยราวๆ 5 - 6 ปี วาดรูปอยู่อย่างใจจดจ่อ ด้วยความที่นั่งอยู่ไม่ไกลกัน ก็เลยทำให้ได้ยินบทสนทนาของสองแม่ลูก..ไม่สิ...ต้องบอกว่าได้ยินว่าแม่พูดอะไรกับลูก เพราะไม่ได้ยินเสียงของลูกเลย !
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ตอนแรกๆ แม่ก็ชื่นชมลูกว่าวาดรูปได้สวย แต่สักพักก็คอยชี้แนะอยู่ตลอดเวลาว่าควรใช้สีนั้นสีนี้ และคอยกำกับว่าตรงนี้ไม่เหมือน ให้ลบแล้ววาดใหม่ ดูเหมือนลูกไม่ค่อยอยากทำ แต่สุดท้ายก็ทำตามแม่บอก
จะว่าไปก็ชวนสำรวจว่าเราเป็นพ่อแม่ประเภทนี้ด้วยหรือเปล่า !
พลันทำให้นึกถึงอีกกรณีหนึ่งเมื่อครั้งได้ไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา ก็เจอกับกลุ่มเด็กน้อยวัยอนุบาลที่โรงเรียนจัดมาทัศนศึกษา คุณครูจัดให้เด็กเกือบ 20 คนนั่งพับเพียบเรียงกัน 4 แถว หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปแล้วพนมมือ จากนั้นก็ให้พูดตามคุณครูแบบออกเสียงว่า “ขอให้หนูเรียนเก่งๆ สอบได้ที่ 1 ด้วยเถิด” จากนั้นคุณครูก็ให้เด็กนักเรียนกราบพร้อมกัน 3 ครั้ง
เรียกว่าถ้าพระท่านช่วยได้คงงงเหมือนกันว่าจะช่วยเด็กเหล่านี้ให้ได้ที่ 1 หมดได้อย่างไร
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ เด็กอนุบาลเหล่านั้นเรียนรู้อะไร
จะว่าไปก็ชวนสำรวจว่าเราเป็นผู้ใหญ่ประเภทนี้ด้วยหรือเปล่า !
ถ้าใช่ โปรดบรรจงอ่านข้อความนี้
.......
Ken Robinson นักวิชาการด้านการศึกษาระดับโลก ได้กล่าวถึง เด็กหญิงวัย 6 ขวบคนหนึ่งนั่งวาดรูป
“พระเจ้า” อยู่หลังห้องเรียน เธอวาดทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าพระเจ้ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เธอก็สามารถสร้างสรรค์ภาพนั้นออกมาได้ด้วยจินตนาการของตัวเอง หรือแม้แต่เด็กชายวัย 4 ขวบอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการแสดงเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซู เขาพูดผิดบท เล่นผิดคิว แต่เขาก็ยังแสดงต่อไปจนจบ
ทั้ง 2 ตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า “เด็กทุกคนกล้าที่จะลอง ถึงแม้ไม่รู้ แต่พวกเขาก็จะลองดู”
นั่นก็หมายความว่าเด็กไม่กลัวที่จะทำผิด และถ้าหากทำผิด แต่ไม่พร้อมยอมรับการกระทำที่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีวันสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาได้
ความกลัวต่อการผิดพลาดเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมา โดยเรามักจะมองว่าการทำผิดเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
ในระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เด็กที่ทำข้อสอบหรือตอบคำถามครูไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้าย อีกทั้งเด็กยังต้องทำและเรียนในสิ่งที่ครูอยากให้รู้ ซึ่งเด็กอาจจะไม่อยากรู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ หรือทำไมเราจึงไม่ให้เด็กเรียนเต้นรำทุกวันเหมือนที่เรียนคณิตศาสตร์ ความรู้ทางคณิตศาสตร์มีความจำเป็น แต่การเต้นรำก็มีความสำคัญ
เช่นเดียวกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการศึกษาพอๆ กับการรู้หนังสือ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
…...............
ดิฉันชอบใจและเห็นด้วยอย่างมากกับ Ken Robinson เพราะทุกวันนี้เราถูกสอนให้เรียนรู้ในระบบการศึกษาตามที่คุณครูอยากให้รู้ ทั้งที่เราก็เรียนรู้มาโดยตลอดว่าด้วยวิธีการเช่นนี้มันสะท้อนว่าระบบการศึกษาในบ้านเรามีปัญหา ในขณะที่ตอนนี้การศึกษาของเรากำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงการปฏิรูปการศึกษาด้วย ก็น่าจะถือโอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมเด็กไทยให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21
หนึ่งในทักษะที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กในยุคนี้และยุคหน้าก็คือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์
ระบบการศึกษาในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือ 21st Century Competencies ซึ่งเน้นให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ก็เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งเป็นที่มาของทิศทางในการจัดการศึกษาใหม่ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้
ย้ำอีกครั้ง - เน้น “กระบวนการเรียนรู้” สำคัญกว่า “ความรู้” !
หรืออาจจะพูดอีกอย่างหากนำไปประยุกต์กับการสอบวัดผลก็ได้ว่า วิธีการได้มาซึ่งคำตอบ สำคัญกว่าตัวคำตอบ
และจากผลการวิจัยที่พบว่าการอัดหรือยัดเยียดข้อมูลความรู้ผ่านการสอนเข้าไปสู่สมองของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์แต่อย่างใด ในทางกลับกันอาจเป็นผลเสียอีกต่างหาก
เด็กและเยาวชนควรมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่และครูเป็นผู้ช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถริเริ่มสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ได้เอง ผ่านการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนทั้งที่บ้านและโรงเรียน
ในขณะที่เด็กนักเรียนในบ้านเรามักจะถูกสอนเสมอว่า เรียนให้หนัก ทำข้อสอบให้ได้ เกรดเฉลี่ยต้องดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และต้องหางานทำดีๆ แต่ปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่งที่มุ่งเน้นแต่เรื่องวิชาการอย่างเดียว ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต
ความคิดสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งควรจะเป็นเรือธงเรื่องหนึ่งที่ควรจะมีในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์
จริงอยู่ว่าเราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กยังเล็ก ต้องเริ่มจากพ่อแม่และต้องร่วมมือกับโรงเรียนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์
ทำได้อย่างไร?
ประการแรก หมั่นตั้งคำถาม
เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ที่ต้องหมั่นตั้งคำถามกับลูกตั้งแต่เล็ก อย่าคิดว่าลูกยังเล็กแล้วไม่เข้าใจ การตั้งคำถามบ่อย ๆและสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด เมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน คุณครูต้องมีวิธีการตั้งคำถามให้น่าสนใจ แล้วคำถามควรมีทั้งปลายปิดประเภทคำตอบที่มีถูกผิด แต่ก็ควรเน้นเป็นปลายเปิดที่สามารถฝึกให้เด็กได้คิดและจินตนาการอย่างไม่รู้จบได้
ประการที่สอง เปิดโอกาส
ข้อนี้สำคัญมาก พ่อแม่มักไม่รู้ตัวว่ามีส่วนอย่างยิ่งในการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของลูก เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองบอกเป็นสิ่งที่ถูก เพราะถือดีว่าเราเป็นพ่อแม่ เราห่วงลูกรักลูก เลยอาจทำให้ลูกเสียโอกาสได้ สิ่งที่ควรทำคือการสนับสนุนให้ลูกได้ทดลองสิ่งใหม่ โดยมีพ่อแม่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยและช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ลูกกำลังเรียนรู้ เมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน คุณครูก็ต้องมีเทคนิคการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลอง ได้คิดสิ่งใหม่ หรือได้แสดงความคิดเห็นจินตนาการของเขา โดยไม่ไปปิดกั้นการเรียนรู้
ประการที่สาม ตั้งเป้าหมาย
การตั้งเป้าหมายโดยคำนึงถึงวัยและพัฒนาการของลูกก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้เขาเรียนรู้ว่าต้องมีเป้าหมายด้วย พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเองจะใกล้ชิดและเข้าใจพื้นนิสัยของลูกว่าเป็นเด็กอย่างไร ลูกคนหนึ่งอาจช่างคิด ส่วนอีกคนอาจไม่ชอบคิด พ่อแม่ก็ต้องมีเทคนิคในการส่งเสริมและแก้ไขจุดอ่อน อาจจะเริ่มจากฝึกวินัยและสร้างความรับผิดชอบ อาจมอบหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เหมาะสมกับวัยและการรับรู้ของเขา โดยไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเด็กเมื่อเขาทำได้ตามเป้าหมาย
ในส่วนของโรงเรียน สามารถช่วยฝึกโดยเน้นให้ฝึกคิดแบบสร้างสรรค์ แบบเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้ อาจจะสร้างกฎ กติกา หรือเงื่อนไขบางประการ เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่ากิจการงานใดๆ ที่คิดสร้างสรรค์ก็ต้องมีเป้าหมายด้วย
ประการที่สี่ ฝึกแก้ปัญหา
ฝึกสร้างสถานการณ์หรือสร้างบทบาทสมมติให้ลูกได้แก้ปัญหา เริ่มจากง่ายๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับความยาก การฝึกแก้ปัญหาเป็นขั้นสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ด้วย เมื่อเกิดปัญหาก็เชื่อว่ามีทางแก้ไข โดยคิดว่าทางแก้ไขต้องเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จู่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว ระบบการศึกษาในโรงเรียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ในการนำเทคนิคการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กฝึกทักษะแก้ปัญหา
ทั้งหมดดูเหมือนง่าย แต่ความจริงไม่ถึงกับง่ายนัก
ด่านสำคัญที่สุดคือตัวพ่อแม่เองที่จะต้องฝ่าความเคยชินเดิม ๆ ที่ติดตัวมาอย่างยาวนาน และรั้วโรงเรียนก็ต้องตระหนักว่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเป็นอีกหนึ่งเรือธงในการปฏิรูปการศึกษาด้วย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น