xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหา ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ... ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประชาชนจะไม่ปลอดภัยในการใช้ยา หาก (ร่าง) พระราชบัญญัติยา (พ.ร.บ.ยา) ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจแล้วเสร็จ ไม่ได้รับการแก้ไข
พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยาได้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องแก้ไขให้มีความทันสมัย
ร่าง พ.ร.บ. ยา พ. ศ. … ที่คาดว่าจะใช้แทนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ให้น้ำหนักของการควบคุมกำกับไปที่การเข้าถึงยา จนไม่สมดุลกับหลักความปลอดภัยต่อการบริโภคยา ตัวอย่างประเด็นสำคัญสรุปดังนี้
1. การแบ่งประเภทยาในร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ...ไม่เป็นสากล คือแบ่งเป็น 1) ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา 2) ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ 3) ยาสามัญประจำบ้าน ปัญหาคือ กลุ่ม 2) ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ในร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ...ได้ระบุว่า เป็นยาที่ไม่ใช่ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา สามารถจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกรรม
ปัญหา คือ ประเภทยากลุ่ม 2 ที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพนั้น กำหนดให้มีรายการยาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละวิชาชีพสามารถสั่งใช้ (Prescribing) และจ่ายยา (Dispensing) เบ็ดเสร็จโดยวิชาชีพเดียว ทำให้ไม่มีกลไกการตรวจสอบกลั่นกรองระหว่างวิชาชีพที่เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นสากลให้แน่ใจว่ายาที่ส่งมอบถึงประชาชนมีความปลอดภัยต่อการใช้จากการกลั่นกรองโดยวิชาชีพทางสุขภาพอย่างน้อย 2 วิชาชีพ
ข้อเสนอ ประเภทยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ควรแก้ไขเป็น ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
2.การเตรียมยาและหรือผลิตยาในร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ... ไม่เป็นไปตามหลักการเตรียมและหรือผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เพราะเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ อย่างน้อย 10 สาขา สามารถนำยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก ที่ได้ขึ้นทะเบียนตารับยาไว้แล้วมาผสม ตามหลักวิชา
ปัญหาคือ การเตรียมยาและหรือผลิตยาต้องการผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีมาตรฐานด้านสถานที่ อุปกรณ์ และ กระบวนการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีองค์ความรู้และทักษะที่เกิดจากการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มีความเฉพาะด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน
ข้อเสนอ การเตรียมยาและหรือผลิตยาต้องดำเนินการโดยเภสัชกร ไม่ควรมีการยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขา โดยไม่ต้องขออนุญาต ผลิต ขาย นำเข้ายา แม้ว่าจะเป็นการผลิต หรือการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย
3.การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย
3.1ในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ... ได้ตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณาใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ว่าด้วย “ห้ามโฆษณาสรรพคุณยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ” และ “ห้ามโฆษณาโรคที่รัฐมนตรีประกาศ ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง และโรคพิษสุราเรื้อรัง เอดส์ มะเร็ง อีโบล่า”
ปัญหา การตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณานั้น จะส่งผลต่อการควบคุมโฆษณาที่สร้างปัญหาความเข้าใจผิดในสรรพคุณยา และหลอกลวงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ข้อเสนอ ไม่ควรตัดบทบัญญัติที่ควบคุมการโฆษณา
3.2 ในร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ...ได้นิยาม “โฆษณา” ว่าเป็นการกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการส่งเสริมการขาย
ปัญหา ไม่มีบทบัญญัติใดในร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ...ที่กล่าวถึง “การส่งเสริมการขาย” ซึ่งจัดเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรควบคุม
ข้อเสนอ ควรระบุบทบัญญัติเรื่องการส่งเสริมการขาย เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในปัจจุบัน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณา ทบทวนประเด็นข้างต้น เพื่อให้ พ.ร.บ.ยา แห่งชาติ เป็นกฎหมายแม่บทที่จะใช้เป็นกรอบอ้างอิงหลักในการดำเนินการกำกับดูแลระบบยาของประเทศ โดยยึดหลักความปลอดภัยต่อการบริโภคยาของคนไทย สอดคล้องกับหลักสากล และไม่จำกัดการเข้าถึงการใช้ยาของประชาชน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น