xs
xsm
sm
md
lg

ท้วงร่าง พ.ร.บ.ยาจบสวย แบ่งประเภทยาตามเดิม รอหารือรอบด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หารือท้วงร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่จบสวย แบ่งประเภทยายึดเดิมเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาสามัญฯ ส่วนประเด็นที่เห็นสอดคล้องแต่บทบัญญัติไม่ชัด ปรับแก้ถ้อยความแล้ว ขณะที่วิชาชีพอื่นไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย นำเข้ายา และผู้ไม่เชี่ยวชาญคุบผลิต ขาย นำเข้ายา ไม่ได้ข้อสรุป รอหารือกับวิชาชีพอื่น 27-28 ต.ค. เครือข่ายเภสัชฯพอใจผลสรุป คาดเสร็จทันตามกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อหารือทบทวนการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งมีการหารือ 4 รอบ ได้แก่ วันที่ 13-14 ต.ค. และ 21-22 ต.ค. นั้น โดยวันนี้ (22 ต.ค.) เป็นการหารือครั้งสุดท้ายเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ หลังจากที่เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมได้ยื่น 8 ประเด็นในการแก้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่

ทั้งนี้ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมและสภาเภสัชกรรมมีข้อทักท้วง 8 ประเด็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ซึ่งจากการหารือทั้ง 4 รอบที่ผ่านมานั้น ได้ข้อสรุปคือ 1. การแบ่งประเภทของยา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ กำหนดเป็น ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพหมายถึงทุกวิชาชีพด้านการแพทย์ และยาสามัญประจำบ้าน ได้ปรับแก้ให้ยึดตามคำนิยามเดิมตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า 2. ประเด็นการให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย หรือนำเข้ายา และประเด็นการให้ผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านยาสามารถควบคุม ผลิต ขาย นำเข้ายาได้นั้น 2 ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังต้องมีการหารือกับวิชาชีพต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง สธ. จะจัดให้มีการหารือในวันที่ 27 - 28 ต.ค. นี้ และ 3. ข้อทักท้วงอีก 5 ประเด็น คือ การอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยา โดยไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา และมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพผสมยาได้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา, การอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภทและโฆษณารักษาโรคที่ร้ายแรงได้ และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย, การผลิต ขาย นำเข้า เภสัชสมุนไพร (สมุนไพรที่ไม่แปรสภาพที่ใช้เป็นยา) ต้องขออนุญาตตามมาตรา 85, ไม่มีข้อห้ามการผลิตและการขายยาชุด และไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีโทษทางปกครอง ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องของหลักการ แต่บทบัญญัติเขียนไม่ชัดเจนอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการตีความ จึงมีการร่วมกันแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ให้ชัดเจนขึ้นแล้ว

“การหารือเป็นไปด้วยดี โดยหลักการที่เราเห็นพ้องต้องกันคือ ต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ยึดหลักความปลอดภัยผู้บริโภค ความปลอดภัยยา และการเข้าถึงยา ทั้งนี้ วันที่ 24 ต.ค. จะเตรียมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการ และภาคประชาชน เพื่อรวบรวมความเห็นรอบด้าน ก่อนเสนอกลับมายังที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า นอกจากการแบ่งประเภทของยาซึ่งยึดตามเกณฑ์เดิมคือ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้านตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 แล้ว เรื่องการจ่ายยาจะยึดหลักการแพทย์เป็นผู้สั่ง และเภสัชกรเป็นผู้จ่าย เพื่อให้เกิดการตรวจสอบซ้ำ และ 3. การผสมยาจะต้องให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ยกเว้นบางกรณีระหว่างทำหัตถการ แพทย์สามารถผสมยาใช้ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ผสมยา 2 ตัวที่ขึ้นทะเบียนตำรับแล้วเก็บไว้รอจ่ายให้กับผู้ป่วย เพราะถือว่ามีสถานภาพเป็นยาใหม่

การหารือคิดว่ายอมรับได้ระดับหนึ่ง เพราะมีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น หลายอย่างเห็นร่วมกัน เป็นการพัฒนาให้ก้าวหน้า ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งต่อจากนี้หลังจาก อย. หารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 - 28 ต.ค. จะเป็นการประชุมทุกภาคส่วนเพื่อรับฟังข้อสรุปสาระในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว หากไม่มีมีอะไรโต้แย้ง คาดว่า น่าจะเสร็จทันตามกำหนดที่ขอยืดเวลาตอบกลับไปยังกฤษฎีกาได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น