xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาว รง.แบตเตอรี-คอมพ์ สุดเสี่ยง รับพิษสารตะกั่ว ระวังแป้งทาหน้างิ้วก็มี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนุ่มสาวโรงงานแบตเตอรี คอมพิวเตอร์ สุดเสี่ยง!! รับพิษจากสารตะกั่ว กรมควบคุมโรคเผยพบเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนทั่วไประวังภาชนะที่มีส่วนผสมตะกั่ว แป้งทาหน้างิ้ว สีทาของเล่นเด็ก สธ. สั่งพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตามสอบสวน ห่วงวินิจฉัยยาก เหตุอาการป่วยคล้ายโรคอื่น

วันนี้ (22 ต.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า ภาวะพิษจากโลหะหนัก พบมากขึ้นทุกปี ที่พบมากสุดคือพิษสารตะกั่ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง แต่ที่น่าห่วงคือในเด็กพบการสัมผัสสารตะกั่วสูงขึ้น เนื่องจากมีการนำตะกั่วไปใช้ประโยชน์หลากหลาย เพราะมีลักษณะอ่อนทำให้หลอมเหลวได้ง่าย และสามารถพิมพ์แบบออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดี โดยสมัยก่อนเด็กเป็นโรคพิษตะกั่วจากการกินสีทาบ้าน หรือใช้มือจับของที่ติดสีดังกล่าว ส่วนปัจจุบันแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดพิษตะกั่วในคนทำงาน คือ การทำงานในโรงงานทำแบตเตอรี โรงงานเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนประชาชนและเด็กอาจได้รับจากอากาศ ยาสมุนไพร ภาชนะเซรามิกที่มีตะกั่ว ท่อประปาที่ทำด้วยตะกั่ว หมึก ผลิตภัณฑ์จากแบตเตอรี อาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อน แป้งทาหน้างิ้ว ซึ่งมีส่วนผสมของสี สีที่ทาของใช้ของเล่นเด็ก เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งองค์การอนามัยโลก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันศึกษาต่างๆ สมาคมผู้ผลิตสีไทย ร่วมรณรงค์ลดความเสี่ยงในการได้รับพิษจากสารตะกั่ว โดย สธ. สั่งการให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคพิษจากสารตะกั่ว การติดตามสอบสวน ค้นหาหาสาเหตุของโรค และเพื่อหาแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะในที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จากการทํางาน และการได้รับสัมผัสสารมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในเด็ก เพราะมีการศึกษาพบว่า อาจจะทำให้การพัฒนาทางสติปัญญาด้อยลง

นพ.โสภณ กล่าวว่า สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1. ทางปาก เช่น สูบบุหรี่ กินอาหารในโรงอาหารในโรงงาน ซึ่งมีตะกั่วอยู่ในบรรยากาศ 2. ทางการหายใจ โดยการสูดเอาฝุ่น ควัน ไอระเหย ของตะกั่วที่นำมาใช้แล้ว ซึ่งขาดการป้องกันควบคุมอย่างถูกต้อง และเหมาะสม ทำให้ควันเหล่านั้นแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมของการทำงาน และ 3. ทางผิวหนัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานกับน้ำมันเบนซิน เช่น ช่างฟิต เป็นต้น เนื่องจากตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นตะกั่วอินทรีย์สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดี ทั้งนี้ อาการตะกั่วเป็นพิษมักจะค่อยเป็นค่อยไป คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ ท้องผูก โลหิตจาง มึนชาอวัยวะแขนขา บางคนอาจมาด้วยอาการความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ ในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากผู้ป่วยอาจมีอาการชัก ซึม หมดสติ และเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการตะกั่วเป็นพิษที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ และคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ หากแพทย์ไม่ได้นึกถึงอาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด

“ถ้าคนไข้มาด้วยอาการดังกล่าว จึงควรนึกถึงภาวะตะกั่วเป็นพิษเสมอด้วย สำหรับการรักษาเป็นแบบประคับประคอง เพราะอาจมีอาการหลายระบบ เช่น ชัก ปัญหาโรคตับ โรคไต อาการปวดท้อง ฯลฯ ส่วนการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่ว คือ ต้องรักษาความสะอาดร่างกาย ใส่หน้ากากป้องกันการหายใจเอาตะกั่วเข้าไป และควรจะเฝ้าระวังการเกิดพิษตะกั่วโดยการตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับตะกั่วเป็นประจำ” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น