xs
xsm
sm
md
lg

น้ำสกัดมะกรูดกำจัดแมลงหวี่ ลดแพร่เชื้อตาแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.สต.เสาธงชัยศึกษาพบ "น้ำสกัดจากมะกรูด" มีฤทธิ์กำจัดแมลงหวี่ชะงัด ช่วยลดความรำคาญ แพร่โรคตาแดงในพื้นที่ หลังพบมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ระบุเล็งศึกษาเพิ่มหมักนานกว่าเดิม 15 วัน ช่วยแมลงหวี่ตายมากขึ้นหรือไม่

น.ส.ภาวิณี ตั้งมั่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง "มหัศจรรย์สมุนไพรกำจัดแมลงหวี่" ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า พื้นที่ ต.เสาธงชัยมีลักษณะเป็นป่าและเขา จึงทำให้ฤดูร้อนของทุกปีจะพบแมลงหวี่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวบ้านนิยมทำไร่ทำสวนโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพจากมูลไก่ จึงยิ่งทำให้มีแมลงหวี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะก่อความรำคาญแล้ว ยังเป็นพาหะก่อโรคตาแดงให้แก่คนในพื้นที่ด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลโรคติดต่อของ รพ.สต.เสาธงชัยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคตาแดงเพิ่มขึ้นทุกปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ รพ.สต.เสาธงชัยจึงคิดหาวิธีในการกำจัดแมลงหวี่ ซึ่งสุดท้ายเลือกใช้สมุนไพร 2 ชนิดในการทดลองกำจัดแมลงหวี่คือ มะกรูด และตะไคร้หอมผสมสะเดาขม

น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า ที่เลือกสมุนไพรทั้งสองชนิดเนื่องจากมีข้อมูลว่าสามารถช่วยไล่แมลงได้ แต่ยังไม่มีการทดลองที่แน่ชัดว่าสามารถไล่หรือกำจัดแมลงหวี่โดยตรงได้หรือไม่ จึงนำสมุนไพรทั้งสองชนิดมาทำเป็นน้ำสกัดจากสมุนไพร โดยนำลูกมะกรูดผ่าครึ่งใส่ลงในโหลสะอาด เทน้ำพอท่วมแล้วปิดผาให้สนิทหมักไว้ประมาณ 15 วัน จากนั้นนำมาใส่ขวดสเปรย์ ส่วนตะไคร้นั้นนำมาทุบให้ละเอียดใส่ในโหลสะอาดตามด้วยใบสะเดาผสมแล้วเทน้ำพอท่วมแล้วปิดฝาหมักไว้ 15 วันเช่นกัน แล้วจึงนำมาใส่ขวดสเปรย์

"ในการทดลองได้นำแมลงหวี่ใส่ลงในโหลจำนวน 2 โหล โดยกะประมาณจำนวนแมลงหวี่พอๆ กันทั้งสองโหล จากนั้นจึงนำน้ำสกัดจากมะกรูด และน้ำสกัดจากตะไคร้หอมผสมสะเดาขมฉีดพ่นลงไปในโหลที่มีแมลงหวี่อย่างละโหล สังเกตและบันทึกผลทุก 15 นาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า โหลที่ฉีดด้วยน้ำสกัดจากมะกรูดแมลงหวี่ตายเกือบหมดโหล ส่วนแมลงหวี่ที่เหลือมีลักษณะอาการมึนๆ ขณะที่โหลที่ฉีดด้วยน้ำสกัดตะไคร้หอมผสมสะเดาขมแมลงหวี่ไม่มีการตาย จึงสรุปได้ว่าน้ำสกัดจากมะกรูดสามารถกำจัดแมลงหวี่ได้จริง ที่สำคัญใช้งบประมาณน้อย หาได้ง่ายตามท้องถิ่น และเป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงช่วยลดความรำคาญจากแมลงหวี่ ซึ่งเป็นพาหะของโรคตาแดงด้วย" น.ส.ภาวิณี กล่าว

น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าหากน้ำสกัดทั้งสองชนิดมีระดับความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นจะมีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงหวี่ได้มากขึ้นหรือไม่ โดยจะลองศึกษาน้ำสกัดจากสมุนไพรทั้งสองชนิดเช่นเดิม โดยจะหมักน้ำสกัดทั้งสองชนิดให้นานกว่า 15 วัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น