xs
xsm
sm
md
lg

ชงเพิ่มเงินท็อปอัพค่าไฟฟ้า 2.4 พัน ล.- ขยายดูแล นร.ยากจนครบ 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ. ชงเพิ่มเงินท็อปอัพ 2 รายการ ช่วยค่าไฟฟ้าให้สถานศึกษาวงเงิน 2.4 พันล้าน โดยกำหนดอัตรารายหัวในทุกชั้นตั้งแต่อนุบาล - ม.ปลาย ซึ่งทุก ร.ร. จะใช้อัตราเดียวกัน พร้อมขอขยายดูแลเด็ก นร. ยากจนให้ครบ 100% จากเดิมดูแลได้เพียง 70% ระบุถ้าจะดูแลให้ได้ตามเป้าต้องใช้เงินประมาณ 2.7 พันล้านบาท

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งโอกาสนี้ สพฐ. ได้เสนอขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายหัวโครงการสนับสนุนรายหัวค่าใช้จ่ายใน การจัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่การขอเงินรายหัวในรายการปกติที่รัฐจัดสรร แต่เป็นการขอให้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมพิเศษ หรือ เงินท็อปอัพ (TopUp) ใน 2 รายการ ได้แก่ รายการแรก ขอเงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอนในรายการค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี ยิ่งหากเป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ก็จะแบกรับภาระดังกล่าวสูงแม้ปกติ สพฐ. จะจัดเงินท็อปอัพให้ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น สพฐ.จึงได้ไปสำรวจข้อมูลค่าไฟฟ้าของสถานศึกษาและนำมาคำนวณเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสมในอุดหนุนเงินท็อปอัพค่าไฟฟ้าให้แต่ละระดับการศึกษา ดังนี้ ก่อนประถมศึกษา อยู่ที่ 120 บาท ประถมศึกษา 150 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 190 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 200 บาท ซึ่งหากอุดหนุนท็อปอัพตามจำนวนดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณกว่า 2,427 ล้านบาท

“เดิมทีค่าสาธารณูปโภคนั้นเราจะให้โรงเรียนตามจำนวนเด็ก ซึ่งจะพบปัญหาอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เพียงพอโดยเฉพาะโรงเรียนใหญ่ที่มีเด็กมาก มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่พิเศษมีห้องปฏิบัติการใช้ไฟมากจะประสบปัญหาค่าไฟฟ้าสูง ซึ่งที่ผ่านมาหลายโรงเรียนก็ไปจัดกิจกรรมหารายได้เพิ่มเติม เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่าการศึกษา เป็นต้น แต่ครั้งนี้ สพฐ. ได้ไปรวบรวมข้อมูลและคำนวณและหารค่าเฉลี่ยออกมาและกำหนดอัตราเงินท็อปอัพพิเศษอุดหนุนตามรายหัวของเด็กในแต่ละระดับชั้น ซึ่งทุกโรงเรียนจะได้เท่าๆ กัน แม้จะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดแต่ก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของโรงเรียนได้”นายกมล กล่าวและว่า เบื้องต้นสำนักงบประมาณทราบเรื่องดังกล่าวแล้วซึ่งสำหรับปีงบประมาณ 2558 ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน สพฐ.จะเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2559 ต่อไป

นายกมล กล่าวต่อว่า รายการต่อมา คือ ขอเงินอุดหนุนเพิ่มเติมพิเศษให้แก่นักเรียนยากจนครบ 100% ปัจจุบันเด็กไทยมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคน แต่ 1 ใน 3 หรือจำนวน 3 ล้านคนมีฐานะยากจน พ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี เฉพาะภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 พบว่า มีนักเรียนยากจนทั้งสิ้น 3,611,153 คน แบ่งเป็น ระดับระดับประถมฯ จำนวน 2,442,535 คน หรือคิดเป็น 36% และระดับมัธยมฯ จำนวน 1,177,080 คนคิดเป็น 66% ทั้งนี้ ปกติแล้ว สพฐ. จะจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กยากจนในสถานศึกษาได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น หรือประมาณ 70% คือ ระดับประถมศึกษาจะดูแลเด็กประมาณ 40% ของเด็กประถมฯ ส่วนมัธยมศึกษาดูแลเด็กประมาณ 30% ของเด็กมัธยมศึกษา ซึ่งในระดับประถมศึกษาฯ สพฐ.กำหนดอัตราไว้ที่ 1,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนระดับมัธยมฯ 3,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละกว่า 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้น หากจะสนับสนุนปัจจัยการศึกษาพื้นฐานให้นักเรียนยากจนในสถานศึกษาได้ครบ 100% ก็จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,706 ล้านบาท จึงจะสามารถดูแลให้นักเรียนยากจนได้ทั่วถึง ได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและเรียนจบการศึกษาภาคบังคับตามที่กำหนด
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น