xs
xsm
sm
md
lg

ชงขึ้นแบล็กลิสต์ตัดสิทธิ์กู้ กยศ.เด็กอาชีวะเอกชนก่อเหตุตีกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร
อาชีวะเอกชนกลุ่มเสี่ยง น้อมรับมาตรการ “บิ๊กตู่” เปิดศึกตีกันปิดทันที 3-7 วัน พร้อมเสนอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง มารับลูกด้วยตนเอง หากถูกจับพกพาอาวุธ ชี้เพื่อจะได้รู้พฤติกรรมลูก และวิทยาลัยจะขยับเวลาเรียนให้เหลื่อมกัน สกัดเด็กออกไปก่อเหตุ ขณะที่ สช. จับตาโรงเรียนเจ้าปัญหา ก่อเหตุ 2 ครั้ง “บัณฑิตย์” ยันก่อเหตุครบสามครั้งอาจเจอมาตรการปิดถาวร ด้าน นายกสมาคมอาชีวะเอกชน ชงมาตรการ ตีกันเมื่อไรขึ้นแบล็กลิสต์เด็กตัดสิทธิ์ กยศ. ทันที

วันนี้ (22 ก.ย.) นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 18 แห่ง ประกอบด้วย สถานศึกษากลุ่มเสี่ยง 6 แห่ง และที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษากลุ่มเสี่ยงทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชี้แจงมาตรการป้องกันและจัดการกับนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ปรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาท เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ปิดสถานศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาททันที 3-7 วัน พร้อมให้สถาบันต่างๆ เสนอแผนป้องกันพิเศษ มาให้ สช. พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบจึงจะอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน ซึ่งทุกสถาบันยอมรับและเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีการเสนอมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ ขอให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการตรวจตรา โดยเฉพาะกรณีของนักศึกษาที่มักชอบจับกลุ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ แยกทันที เพราะส่วนใหญ่มักใช้ รถจักรยานยนต์ในการก่อเหตุ ขณะเดียวกัน ยังเลื่อนเวลาเข้าเรียนและเลิกเรียน ไม่ให้ตรงกัน โดยสถาบันที่เป็นคู่อริ รวมไปถึงบางแห่งปรับเวลาเปิด ปิดภาคเรียนไม่ให้ตรงกัน โดยเฉพาะช่วงก่อเหตุมักจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม -มิถุนายน

“สถานศึกษาเสนอขอให้มีการปรับเพิ่มโทษทางกฎหมาย สำหรับนักเรียนที่ก่อเหตุด้วย เพราะปัจจุบันหากตรวจพบว่านักเรียนพกอาวุธจะถูกปรับแค่ 100 บาท และเมื่อครูมารับรองก็จะปล่อยตัวกลับบ้าน แต่ต่อไปอยากให้ผู้ปกครองมารับเด็กด้วยตัวเอง เพื่อจะได้รับรู้พฤติกรรมของเด็ก ในส่วนของสถานศึกษาถ้าปล่อยปละละเลย จนเกิดเหตุซ้ำซาก ก็ต้องมีมาตรการลงโทษ ซึ่งมาตรการที่ใช้อยู่ปัจจุบันจะให้สถาบันที่ก่อเหตุครบ 3 ครั้ง งดรับนักศึกษาทันทีในปีถัดไป ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาที่ก่อเหตุครบ 2 ครั้งแล้ว 1 แห่ง อยู่ในการจับตาเป็นพิเศษจาก สช. ถ้าก่อเหตุอีก 1 ครั้ง ก็จะต้องใช้มาตรการงดรับนักศึกษา และแนวโน้มน่าจะเป็นการปิดถาวรเพราะจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงเรียนก่อเหตุ 1 ครั้ง มีอยู่ 4 แห่ง ซึ่งสช.ก็จับตาอยู่เช่นกัน ” นายบัณฑิตย์ กล่าว

รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาชีวศึกษาเอกชนเห็นด้วยและเข้าใจความหวังดีของนายกฯ หากตรวจสอบชัดเจนว่าสถานศึกษาแห่งนั้นปล่อยปละละเลย ไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาที่เหมาะสม ก็สมควรที่จะเข้าสู่มาตรการลงโทษ โดยการสั่งปิดสถานศึกษา แต่ตนอยากเสนอให้เพิ่มมาตรการสำหรับจัดการกับเด็กควบคู่ไปกับมาตรการลงโทษสถานศึกษาด้วย โดยให้มีการขึ้นแบล็กลิชเด็กที่ก่อเหตุทันที รวมทั้งส่งข้อมูลมูลให้กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเพื่อให้ กยศ. ขึ้นแบล็กลิสต์เพื่อให้มีผลต่อการกู้ยืมเงิน

“ที่เสนอมาตรการนี้เพราะต้องการให้เด็กเข็ดหลาบ เพราะกฎหมายที่ลงโทษเวลานี้อ่อนมาก เมื่อเด็กถูกให้ออกจากสถานศึกษาแห่งหนึ่งก็จะย้ายไปสมัครเรียนที่อื่นและก่อเหตุต่อได้ แต่ถ้ามีข้อมูลและให้ กยศ. ขึ้นแบล็กลิสต์เด็กเหล่านี้ จะช่วยให้สถานศึกษาคัดกรองเด็กได้ระดับหนึ่ง และเด็กเองก็อาจจะมีความเกรงกลัว เพราะถ้าก่อเหตุก็อาจจะหมดสิทธิ์กู้ กยศ. ไปด้วย รศ.ดร.จอมพงศ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การแก้ปัญหาเด็กทะเลาะวิวาทจะต้องทำหลายมาตรการพร้อมๆ กัน และที่สำคัญต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนกับตัวผู้ทำผิด ปัจจุบันกฎหมายค่อนข้างอ่อน ทำให้เด็กกล้าก่อเหตุ แม้ว่าสถานศึกษาจะดำเนินการตามมาตรการป้องกันในทุดด้านแล้ว
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น