พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมตั้งประกอบเกียรติยศ บรมครูศิลป์ “ประหยัด พงษ์ดำ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่สิ้นลมอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ลูกสะใภ้เผย หลังงานศพ “ถวัลย์ ดัชนี” คุณพ่อซึมเศร้า ไร้เสียงหัวเราะ แต่มีผลงานชิ้นพิเศษทำค้างไว้
วันนี้ (19 ก.ย.) ในช่วงเช้ามืด นับเป็นความสูญเสียของปูชนียบุคคลวงการศิลปะอีกครั้ง เมื่อ นายประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ปี 2541 ได้สิ้นใจอย่างสงบด้วย โรคหัวใจล้มเหลว ภายในบ้านพัก โดย นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กล่าวว่า สวธ.ได้รับแจ้งจากครอบครัวนายประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์) ปี2541 ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่บ้านพัก เลขที่ 237/1 ซ.เพชรเกษม 72 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ สิริอายุรวม 79 ปี 10 เดือน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานโกศแปดเหลี่ยมตั้งประกอบเกียรติยศ ในฐานะที่ได้รับพระราชทานสายสะพายชั้นสูง มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พร้อมกันนี้ยังโปรดเกล้าฯให้รับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน โดยพระพิธีธรรม จะสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่คืนวันที่ 19-25 กันยายน เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 1 เตชะอิทธิพร วัดเทพศิรินทราวาส ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพจะกำหนดวันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สวธ.มีเงินสวัสดิการสำหรับศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพมอบให้ครอบครัวจำนวน 20,000 บาท และยังมีเงินสำหรับสนับสนุนการจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
นางสุมลทรา พงษ์ดำ ภรรยาบุตรชาย นายประหยัด กล่าวว่า ตนเป็นผู้ดูแลคุณพ่อมาโดยตลอด รู้สึกตกใจมาก ที่คุณพ่อเสียชีวิต เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ท่านมีอาการไข้เล็กน้อยจึงได้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 และกลับมาพักผ่อนที่บ้าน ในช่วงเย็นคุณพ่อก็ยังนั่งทานข้าวด้วยกันกับครอบครัวที่บ้าน โดยไม่มีอาการอะไรน่าเป็นห่วง จากนั้นเวลาประมาณ 22.00 น.ก็ขึ้นไปนอนในห้องส่วนตัวคนเดียว จนกระทั่งเวลา 07.30 คุณแม่เห็นว่าผิดสังเกต เพราะตามปกติคุณพ่อต้องตื่นมาส่งหลานชายและให้เงินก่อนไปโรงเรียนทุกวันจึงเดินไปดูที่ห้อง ก่อนจะส่งเสียงตะโกนเรียกตามให้ตนขึ้นไปที่ห้องนอน ก่อนจะพบว่าคุณพ่อได้นอนสิ้นลมไปอย่างสงบ
คุณพ่อมีโรคประจำตัวรุมเร้า ทั้งเบาหวาน ความดันสูง หัวใจ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมเพิ่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก แพทย์จึงได้ทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วก็บอกเป็นระยะว่ามีอาการเหนื่อยใจจะขาด ไม่ค่อยมีแรง และนอนไม่ค่อยหลับ อีกทั้งช่วงหลังมีความเครียดกับเรื่องงานหลายเรื่อง ประกอบกับการจากไป ของ อ.ถวัลย์ ดัชนีย์ ศิลปินแห่งชาติก็ยิ่งทำให้คุณพ่อคิดมากไปอีก เพราะทั้งสองท่านเป็นศิลปินที่ใกล้ชิดกันมาก ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เมื่องานวันสวดอภิธรรมศพ อ.ถวัลย์ คุณพ่อหกล้มจนศีรษะแตกด้วย หลังจากงานศพ อ.ถวัลย์ คุณพ่อก็ดูซึมเศร้า ไม่คุยเล่นเหมือนเคยและแทบจะไม่ได้เห็นคุณพ่อหัวเราะอีกเลย
“ขณะนี้คุณพ่อยังมีผลงานที่ได้สร้างสรรค์ค้างไว้อีก 1 ชิ้น เป็นการแกะไม้และเพ้นท์รูปบึงดอกบัวและต้นโพธิ์ ขนาดใหญ่เกือบ 2 เมตร ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ซึ่งท่านบอกไว้ว่าอยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นพิเศษของตนเองที่จะนำไปติดตั้งไว้ที่หอศิลป์ส่วนตัวที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ปัจจุบันได้จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทัศนศิลป์ให้แก่ประชาชน ” นางสุมลทรา กล่าว
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ถือว่าเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในวงการศิลปะ ซึ่งนายประหยัดเป็นปูชนียบุคคลของชาติ ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ทำงานเพื่อสังคม บริจาคภาพเพื่อประมูลให้เป็นทุนการศึกษาของนักเรียนศิลปะอย่างสม่ำเสมอ โดยภาพที่โด่งดังส่วนใหญ่ของอาจารย์จะเป็นภาพเกี่ยวกับสัตว์ เช่น แมว นกฮูก เป็นต้น
ประวัติ
นายประหยัด พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2477 ที่บ้านบางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ในวัยเด็กสนใจการวาดภาพสัตว์ต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาพไก่ สุนัข สุกร ม้า แมว ฯลฯ ในปี พ.ศ. 2493 สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างได้ และในขณะที่ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 ของโรงเรียนเพาะช่าง นายประหยัดได้สอบเทียบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรสำเร็จและเรียนจบรับปริญญาศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) ในขณะกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 5 ของโรงเรียนเพาะช่าง ดังนั้น ศ.ศิลป์ พีระศรี จึงมอบหมายให้นายประหยัดช่วยสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะให้แก่นักศึกษารุ่นน้องด้วย
หลังจบการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี ต่อมาได้สอบชิงทุนการศึกษาต่อที่ Academia Di Beelle Arti Di Rome ประเทศอิตาลี ได้สร้างชื่อเสียงด้านการเรียน และการสร้างสรรค์งานศิลปะให้เป็นที่ชื่นชมแก่คณะอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อจบการศึกษาจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อ จนกระทั่งในปี 2538 ได้รับตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ระดับ 10 คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับผลงานสำคัญของนายประหยัดได้คิดค้นกรรมวิธีทางภาพพิมพ์ที่เป็นประโยชน์แก่วงการศิลปะภาพพิมพ์ และเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกให้เขียนภาพประกอบหนังสือเรื่อง พระมหาชนก พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน ที่สำคัญได้ถวายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ออกแบบ และเขียนภาพเพดานพระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา และได้ถวายงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเขียนภาพฝาผนังพระอุโบสถวัดพระราม9 กาญจนาภิเษก ร่วมกับอ.ปรีชา เถาทอง ด้วย นอกจากนี้นายประหยัดยังได้จัดแสดงผลงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี2541 ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุดมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ร.) ถือเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดของชีวิต
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่