จะว่ากันไปแล้ว ผลงานที่บรรพบุรุษได้รังสรรค์ไว้อย่างวิจิตรตระการตา เปรียบเสมือนบรมครูถ่ายทอดมรดกความเป็นไทย ความเชื่อ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมให้คนรุ่นใหม่นำมาสร้างสรรค์ผลงานให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป นับว่าเป็นการผสมผสานระหว่าง ของเก่า กับ ของใหม่ ได้อย่างลงตัว
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สวมบทบาทภัณฑรักษ์ เปิดนิทรรศการ “มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก+พลังสร้างสรรค์” (ThaiCharisma:Heritage+Creative Power) และในระหว่างนำชมนิทรรศการ บอกว่า ผลงานเหล่านี้คืองานฝีมือช่างนิรนาม บรรพบุรุษของพวกเรา ที่กรมศิลปากรได้จัดเก็บไว้กว่า 77,000 ชิ้น และการจัดนิทรรศการครั้งนี้ได้คัดเลือกมาแสดงจำนวน 37 ชิ้น ยังไม่เคยนำมาจัดแสดงในที่สาธารณะ นอกจากผลงานของช่างนิรนามแล้ว ยังมีผลงานของศิลปินร่วมสมัย 19 ท่าน เพราะฉะนั้น ใครมีโอกาสชมนิทรรศการเหมือนได้สัมผัส 2 ยุค คือ ชมงานวัตถุโบราณจากช่างบรรพบุรุษ และศิลปินร่วมสมัย อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าผู้ที่เข้ามาสัมผัสนิทรรศกาล อาจเป็นแรงบันดาลใจจุดประกายสร้างสรรค์ผลงานใหม่ออกมาให้ชมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ศ.ดร.อภินันท์ อธิบายว่า ห้องนี้นับว่าไฮไลต์ เนื่องจากเป็นงานวาดภาพชุดลายเส้นภาพของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติปี 2544 ที่ไม่เคยนำออกแสดงที่ไหนมาก่อน อาจารย์ถือเป็นศิลปินที่มีฝีมือเป็นเลิศเรื่องนำเอาเนื้อหาความหมาย ความเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ฮินดู วิญญาณนิยม นำมาเขียนเป็นภาพลักษณะของลายเส้น ในอิริยาบถต่างๆ
ยกตัวอย่างไตรภูมิกถา ซึ่งมีบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ สวรรค์ นรก ในจำนวนนี้มีผลงานชิ้นสำคัญคือชุดลายเส้นภาพเหมือนใบหน้าของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อายุ 30 - 40 ปี เพราะฉะนั้นผลงานอาจารย์ถวัลย์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อช่างนิรนามกับศิลปินร่วมสมัย ที่สามารถสืบทอดงานศิลปะให้เป็นมรดกร่วมสมัยได้
“ถึงแม้วันนี้จะสิ้นท่าน แต่ท่านได้ฝากผลงานไว้มากมายให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เมื่อครั้งมีชีวิตท่านได้ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์เพื่อสืบสานงานศิลป์”
นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่น่าสนใจ เป็นการแสดงของ “Beyond” ของ “คามิน เลิศชัยประเสริฐ” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปไม้สลัก ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ชี้ให้เห็นถึงวัฏจักรของมนุษย์ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเตือนสติการใช้ชีวิตอีกด้วย
ขณะที่ ปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินแนวร่วมสมัย ผลงาน “รอยต่อแห่งศรัทธาของกาลเวลา” ได้นำแนวคิดภาพการเวียนว่ายตายเกิดบนจิตรกรรมฝาผนังมาสร้างงานแนวสื่อผสม ปานพรรณ บอกว่า ตนศึกษางานในมาสเตอร์พีซ หมายถึงคนรุ่นเก่าก่อน เพื่อหาแรงบันดาลใจ แล้วหยิบความเก่าแก่ ความเป็นโบราณสถาน จิตรกรรมฝาผนัง มาผสมผสาน สื่องานจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยในปัจจุบันนี้
พร้อมกันนี้ โดยรอบๆ ยังมีแสดงผลงานชุด “การเดินทางของวัตถุหมายเลข 99” ของ สาครินทร์ เครืออ่อน, ผลงาน “UNHAPPY” ของ ปัญญา วิจนธนสาร, ผลงาน “Ayodhya” ของ จักกาย ศิริบุตร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าปักรามเกียรติ์ พุทธศตวรรษที่ 25, ผลงาน Angel ของ ประเสริฐ ยอดแก้ว ที่สะท้อนแนวคิดหากเทวดาตกสวรรค์แล้วจะเป็นอย่างไร, ผลงานการถ่ายทอดสัญลักษณ์ของความเสียสละ ผู้ให้ และผู้ขอเสมอ ชื่อ “วัวนักบุญผู้ให้กับหมูขี้ขอ” ของ ยุรี เกนสาคู และผลงาน “ไวฟท” จากฝีมือการดุนกระดาษของ รัธวลี ชาญชวลิต เป็นต้น
...นิทรรศการ “มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก + พลังสร้างสรรค์” ไม่เพียงใช้ถ่ายทอดผลงานทรงคุณค่าทางมรดกของชาติ ยังเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อ และพลังความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง นิทรรศการนี้เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ถึง 16 พฤศจิกายน 2557 ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่