ART EYE VIEW---ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปีพุทธศักราช 2541 ซึ่งขณะนี้แหล่งข่าวแจ้งว่าเป็นการจากไปอย่างสงบ ขณะนอนหลับ ทว่าก่อนหน้านี้หลังจากที่ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี แหล่งข่าวกล่าวว่าได้สร้างความเสียใจให้กับ ศ.ประหยัด มีผลทำให้มีอาการนอนไม่หลับ
ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะจากคำบอกเล่าของ ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทของถวัลย์ บ่อยครั้งที่จะได้เห็นทั้งศิลปินแห่งชาติทั้งคู่ไปไหนมาไหนด้วยกัน และถวัลย์ก็เคยประกาศว่า "มีพี่หยัดที่ไหน มีถวัลย์ที่นั่น"
ขณะที่ สยมภู พงษ์ดำ ทายาทศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัดก็ได้โพสต์ภาพพ่อ ขณะทำงานศิลปะ และข้อความแจ้งกับทุกคนผ่าน facebook ในเช้าของวันที่ 19 กันยายน ว่า....
เช้าวันนี้พ่อได้จากไปอย่างสงบ
พ่อจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป......
โดยที่ก่อนหน้านี้เพิ่งจะมีการเปิด หอศิลป์ประหยัด พงษ์ดำ ที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไปเมื่อไม่นาน
กำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ
ตั้งสวดอภิธรรมศพ ณ วัดเทพศิรินทร์ทราวาส ราชวรวิหาร ศาลา 1 (ซึ่งเป็นวัดและศาลาเดียวกันกับที่เคยทำพิธีรดน้ำศพ ศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี)
วันรดน้ำศพ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราทานน้ำหลงวงอาบศพ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 17.00 น.
วันสวดอภิธรรมศพตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 กันยายน - วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2557
จากนั้นจะมีการเก็บศพไว้ 100 วัน เพื่อขอพระราชทานเพลิงศพ ในลำดับต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดสิงห์บุรี สนใจวาดภาพสัตว์ต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก หลังจากเข้ารับการศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับปริญญาตรีศิลปะบัณฑิต (จิตรกรรม) แล้ว ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลีไปศึกษาต่อ ณ สถาบันประณีตศิลป์แห่งกรุงโรมศึกษาจบหลักสูตรได้รับดีโพลมา ในปี พ.ศ. 2504 ศาสตราจารย์ประหยัดได้สร้างชื่อเสียงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ได้รับรางวัลในการแสดงงานศิลปะ ณ ประเทศอิตาลีหลายรางวัล และเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วได้คิดค้นสร้างสรรค์กรรมวิธีภาพพิมพ์ด้วยเทคนิควิธีแปลกใหม่ ที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก แก่วงการศิลปะภาพพิมพ์
เป็นผู้ริเริ่มออกแบบสร้างสรรค์ดวงตราไปรษณียากรที่มีคุณค่าทางศิลปะอันงดงาม สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ จนได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ พ.ศ. 2506 ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศ สาขาภาพพิมพ์ จากสถาบันศิลปะ กรุงฟลอเรนซ์ อิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลี พ.ศ.2524 ได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2539 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เขียนภาพประกอบในหนังสือพระมหาชนก จำนวน 4 ภาพ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ผลงานมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้มีอาวุโสผู้หนึ่งที่ยังให้การศึกษาแก่ศิษย์ ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาพพิมพ์ คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งหอศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมากไว้แก่วงการศิลปะ และการศึกษาศิลปะของไทย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปีพุทธศักราช 2541
2 ศิลปินเมืองสิงห์
พูดถึงศิลปินเมืองสิงห์ วัย 79 ปี ผู้จากไป
“เพียงเก้าวันผ่านพ้น ความหวังที่วาดไว้ ทำไม่ได้อีกแล้ว เป็นอนุสติเตือนตน ขอให้อาจารย์เฝ้ามองดูและหัวเราะเยาะความโง่เขลาของเรา อยู่บนสรวงสวรรค์ ด้วยเทอญ”
เบี้ยว - เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ศิลปินไทยในสิงคโปร์ ชาวสิงห์บุรี โพสต์ข้อความผ่าน facebook ในวันที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดํา ได้อำลาจากโลกนี้ไป พร้อมกับนำภาพถ่ายของตนเองกับศาสตราจารย์ประหยัดที่เพิ่งถ่ายร่วมกันเมื่อช่วง 9 วันที่ผ่านมา ในงานพระราชทานเพลิงศพของศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนี มาโพสต์ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งข้อความประกอบภาพได้บรรยายายไว้ว่า
“ตอนอยู่ปีสอง ปี 2525 ท่าน อาจารย์ประหยัดเป็นคณบดี เรียกผมไปเซ็นชื่อ รับทุน มีเซียม ยิบอินซอย จำนวนเงิน สองพันห้าร้อยบาท พออยู่ปีสาม ก็เรียกไปเซ็นชื่อ รับทุนสนับสนุนการศึกษาอีก สามพันบาท เลือดเมืองสิงห์ มันเข้ม เวลาผ่านไปหลายปี อาจารย์ทราบว่า ผมมีนามสกุลเป็นตระกูลเจ้าสัวเมืองสิงห์ แกบอกไม่น่าให้ทุนมันเลย 555 แต่ผมจะบอกอาจารย์ว่า อาจารย์ให้ถูกคนแล้ว เตี่ยผมขายกาแฟ แม่ขายก๋วยเตี๋ยว ลูกหก กิจการเจ๊งไม่เป็นท่า นามสกุลไม่เกี่ยวเลย ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง ด้วยความเคารพรัก ผมจะไปเยี่ยมอาจารย์ นะ นะ”
ทว่าในที่สุดเขาไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมอาจารย์ดังที่ตั้งใจไว้ และด้วยความตกใจเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์ยังได้ส่งข้อความหา
องุ่น- เกณิกา สุขเกษม ประติมากรหญิงและคอลัมนิสต์ “เรื่องเล่าในเงาดิน” ศิลปินรุ่นน้องซึ่งเป็นชาวสิงห์บุรี ด้วยกัน
ซึ่งเธอเป็นคนแรกที่แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด ให้ ART EYE VIEW ได้ทราบ และแม้จะไม่ได้มีความผูกพันกับศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัดในฐานะอาจารย์กับลูกศิษย์ดังเช่นเริงศักดิ์ ทว่าครั้งหนึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด เคยไปเป็นประธานเปิดนิทรรศการให้กับ "นายดี ช่างหม้อ" ประติมากรชายอดีตคู่ชีวิตขององุ่น
“ท่านเคยมาเปิดงานให้นายดีครั้งหนึ่งด้วยค่ะ องุ่นเคยพบท่าน พี่เบี้ยวเริงศักดิ์ ก็ส่งข้อความมาในกล่องขององุ่น พี่เบี้ยวตกใจ และเสียใจ บอกว่าจะไปเยี่ยมบ้านอาจารย์อยู่แท้ๆ พี่เบี้ยวบอกว่า
"เราต้องรีบทำอะไร อย่ารีรอจนสายไป เรามีครูบาอาจารย์อีกหลายท่านที่พึงเคารพค่ะ”
และอีกครั้งที่เริงศักดิ์ได้เล่าเพิ่มเติม ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2557 ว่า...
"วันที่เข้ามาสอบสัมภาษณ์เข้าคณะจิตรกรรม เด็กสิงห์อย่างผม ดูจะมีความพิเศษที่ว่า อาจารย์ถามหา ' ไหนคนสิงห์ ' คำถามเกี่ยวกับโรงเรียนสิงห์บุรี พรั่งพรูออกมา จนตอบไม่ทัน อาจารย์คงมีความผูกพันมาก ขึ้นปีสอง อาจารย์รับงานวาดภาพให้พี่สมยศ ไตรเสนีย์ ประดับโรงแรมนายเลิศ แต่มีคำสั่งพ่วงท้ายว่า ให้เอารุ่นน้องไปช่วยวาดด้วยสี่คน หนึ่งในนั้นคือผมเอง อานิสงค์ต่อมาคือ ผมได้รับทุนถึงสองครั้งโดยไม่เคยกรอกแบบฟอร์มขอ ปีสาม อาจารย์พาไปรับงานนอก วาดจิตรกรรมฝาผนังประดับห้องพระของคุณประสาน มาลีนนท์ วาดอยู่สามเดือนกับไอ้จืด กิตติศักดิ์ นวลลักษณ์ ในสวนหลังบ้านอาจารย์ที่บางแค ได้เงินเรียนและฝึกมือไปด้วย ผมละเลยกับการมีปฏิสัมพันธ์กับท่านอาจารย์ จนคิดว่าพบเมื่อไรก็ได้ จวบจนอาจารย์ถวัลย์ลาโลกไป วันงานเผาอาจารย์ถวัลย์ ผมรู้สึกอยากกอดแกมาก ผมพูดมากกว่าปรกติ บอกให้แกเคาะหัวผมที แกทำแค่โอบไหล่ แล้วก็ถ่ายรูปกัน เพียงเท่านั้น ผมบอกจะไปเยี่ยมอาจารย์ จะ จะ จะ มากมาย แล้วผมก็กลับมาสิงคโปร์ คิดว่ากลับไป จะตระเวณไหว้ครูที่รักเคารพ เพียงเก้าวันเท่านั้น อาจารย์ไม่อยู่รอ มันจุกอก อ้างว้าง และเหงาจริงๆ สายไปแล้ว รักเคารพใคร อย่ารีรอเลย คิดถึงอาจารย์มากๆ"
หมายเหตุ:
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดํา ชาวบางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
เบี้ยว - เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ชาว อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
องุ่น- เกณิกา สุขเกษม ชาว อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
คลิกอ่าน... มุมน่ารักของ ศ.ประหยัด พงษ์ดำ “ผมไม่ได้ก๊อปปี้ อ.ชลูด”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews