ในปัจจุบันหลายคนที่หันมารับประทานอาหารเจด้วยหลากหลายสาเหตุเช่น เพื่อสุขภาพ ความเชื่อทางศาสนา หรือลดความอ้วนเป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของการบริโภคอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์นั่นคือการขาดกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอยู่ในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์
กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential Fatty Acid) หมายถึงกรดไขมันที่ร่างกายต้องการเพื่อให้กลไกต่างๆ ของร่างกายดำเนินการได้สมบูรณ์ ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นได้เองต้องได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น
•กรดไขมันโอเมกา-3 ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของระบบประสาทและสมอง เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย บำรุงสายตา ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในเด็ก เพิ่มประสิทธิภาพของความจำและความคิด เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิวหนังและข้อต่อ ซึ่งพบได้ในปลาทะเล ปลาน้ำจืดบางสายพันธุ์ เช่น ปลาสวาย ปลาช่อน และไข่ ตามการศึกษาวิจัยพบว่ากรดไขมันโอเมกา-3 มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยสามารถลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลตัวไม่ดี เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหลอดเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดการจับตัวของเกร็ดเลือดและช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด ลดการอักเสบ
•กรดไขมันโอเมกา-6 ทำหน้าที่เป็นตัวรับส่งสัญญาณประสาท เมแทบอลิซึมตามหน้าที่ของฮอร์โมน พบได้ในน้ำมันจากพืชเป็นส่วนใหญ่ เนยขาว
โดยปกติแล้วกรดไขมันโอเมกา-6 ซึ่งมาจากพืชมักจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแต่จะมีปัญหาเรื่องการได้รับเกินกว่าความต้องการของร่างกาย การได้รับกรดไขมันโอเมกา-6 มากไปจะทำให้เกิดการอักเสบ ผู้ที่รับประทานอาหารเจมักจะขาดกรดไขมันโอเมกา-3 แต่มักจะได้รับกรดโอเมกา-6 เกิน โดยสัดส่วนของกรดไขมันโอเมกา-6 ต่อโอเมกา-3 ที่แนะนำโดยสมาคมนักกำหนดอาหาร คือ 1:1 ถึง 4:1 แต่ในคนที่รับประทานอาหารเจมักจะเป็น 15:1 หรือ 20:1 ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบ การมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายสูง และอาจตามมาด้วยโรคกระดูกและข้อ โรคหัวใจและหลอดเลือดแม้ว่าจะไม่รับประทานไขมันจากสัตว์เลยก็ตาม
แหล่งของกรดไขมันโอเมกา-3 ในพืชเช่น
•เมล็ดเฟล็ก 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 6000-6500 มิลลิกรัม
•น้ำมันเมล็ดเฟล็ก 1 ช้อนโต๊ะมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 6000-8000 มิลลิกรัม
•ถั่ววอลนัท 2 ช้อนโต๊ะมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 2600-3000 มิลลิกรัม
•เต้าหู้ 1 ถ้วย มีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 700-1000 มิลลิกรัม
•พืชตระกูลกะหล่ำ เช่นดอกกะหล่ำ บล๊อกโคลี่ 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 37-45 มิลลิกรัม
•ถั่วเขียว 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 600-630 มิลลิกรัม
•ฟักทอง 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 330-350 มิลลิกรัม
•สาหร่ายทะเล 1 ช้อนโต๊ะมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 60-75 มิลลิกรัม
•ข้าวสีนิล ข้าวไรซ์เบอรี่ 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 150-200 มิลลิกรัม
•ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ 1 ถ้วยมีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 150-250 มิลลิกรัม
•มะม่วง 1 ลูก1 มีกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 70-100 มิลลิกรัม
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่