โดย ... นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
คำว่า “โบ๋ไม่บาย” เป็นคำภาษาใต้ที่แปลว่า “พวกคนไม่สบาย” แต่นัยยะของคำว่าไม่สบายในที่นี้ไม่ใช่คนเจ็บป่วยไม่แข็งแรง แต่คือคนที่คิดเพี้ยนๆ ไปจากคนปกติของสังคม ใครจะบ้าเดินไปกรุงเทพนอกจากคนไม่ “บาย” เท่านั้น และนี่จึงเป็นที่มาของเพลง “โบ๋ไม่บาย” ที่แต่งโดยศิลปินเพื่อชีวิต แสง ธรรมดา และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ “ไม่บาย” ไปกับเขาด้วย
กิจกรรมเดินวันโยชน์ เพื่อประโยชน์ชาติ นั้นมุ่งในประเด็นการปฏิรูปพลังงานที่เริ่มต้นโดยพี่น้องพลเมืองคนใต้ โดยเริ่มต้นกิจกรรมเดินไปกรุงเทพฯในวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ที่ลานคนเมืองหอนาฬิกาอำเภอหาดใหญ่ ในนาม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ด้วยการเดินวันละโยชน์ หรือราว 16 กิโลเมตรต่อวัน ถือธงเขียวใส่เสื้อขาวพร้อมสัญลักษณ์ปลาหลอดไฟสีเขียว มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยใช้เวลาประมาณสองเดือนครึ่ง ระหว่างการเดินทางก็คุยกับผู้คนสองข้างทาง และชุมขนที่เป็นจุดพักค้างแรมด้วยไปตลอดทาง และเมื่อถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งถึงตอนนั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติและรัฐบาลก็คงมีตัวตนและได้อุ่นเครื่องการปฏิรูปประเทศไทยไปบ้างแล้ว พลังประชาชนที่เห็นด้วยก็จะยื่นข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปฏิรูปพลังงาน นี่คือฐานคิดของกิจกรรม แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงเวลาของกฎอัยการศึกก็ตาม
คำถามที่ผู้คนส่วนใหญ่ถามก็คือ ทำไมต้องเดิน ทำไมรออีกนิดก็ไม่ได้ และทำไมต้องทำกิจกรรมท้าทายกฎอัยการศึก ทำไมไม่ไปลงสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำไมไม่ให้โอกาสรัฐบาลเขาทำงานก่อนหากเขาไม่ทำค่อยมาประท้วง และทำไมถึงคัดค้านการพัฒนาโดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น นี่คือคำถามหลักๆ ที่ถูกถามมาในทุกทาง ทั้งด้วยความเป็นห่วง ด้วยความเป็นมิตร ด้วยความหวังดีหรือด้วยการกระแนะกระแหน
สำหรับพลเมืองคนใต้ “โบ๋ไม่บาย” ที่เริ่มรวมตัวในนามกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานนั้น มีฐานคิดที่ว่า “น้ำมัน ก๊าซ ทรัพยากรมากมายนั้นเป็นของคนไทยทั้งชาติ เราในฐานะพลเมืองต้องมีส่วนร่วมในการทวงคืนพลังงานไทยกลับมา และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อน หรือถูกทำลายจากการพัฒนาที่ฉาบฉวยไม่ยั่งยืน” “การจะให้เรานั่งๆ นอนๆ รอความหวังที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะจัดการสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ นอกจากไม่เชื่อมั่นแล้ว ยังอาจเพลี่ยงพล้ำได้ เพราะสิ่งที่กำลังทวงคืนหรือการปฏิรูปพลังงานนั้นคือการต่อสู้กับทุนชาติ และทุนข้ามชาติ ซึ่งแม้มีอำนาจจากการรัฐประหารก็ใช่ว่าจะหาญกล้าสู้ได้” “การมีส่วนร่วมของประชาชนคนเล็กๆ จึงมีความหมาย เป็นหนึ่งในพลังแห่งไม่ซี่ที่จะขอร่วมงัดไม้ซุง” และจังหวะที่จะสร้างกระแสความตื่นตัวในการปฏิรูปพลังงานก็คือปัจจุบัน แม้จะยังมีกฎอัยการศึก หากจ้องรอให้กฎอัยการศึกเลิกไปก่อนก็คงอีกนานอาจเกินครึ่งปี
และเหตุที่คนใต้ต้องออกมาเคลื่อนก่อนนั้น ก็เพราะอุตสาหกรรมพลังงานนั้นเกือบทั้งหมดจะขึ้นที่ภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทะเล ชายหาด ผืนนา อากาศ สายน้ำ สรรพสัตว์ และวิถีชีวิตของผู้คน ภายใต้วาทกรรมของ คสช. ที่จะคืนความสุขและขอเวลาจากประชาชนคนไทยให้รอสักนิดนั้น กลับปรากฏว่า กิจกรรมต่างๆ ของฝ่ายทุนพลังงานเดินหน้าไม่มีหยุด ทั้งการทำประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าถ่านหิน การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลด้านเดียวแก่ชาวบ้าน การสำรวจขุดเจาะทั้งบนบกและในทะเล การเดินหน้าแผนผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล การเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 เป็นต้น ซึ่งล้วนเสมือนเป็นการสะท้อนความจริงที่ว่า การปฏิรูปพลังงานในทัศนะของผู้มีอำนาจที่กรุงเทพฯนั้น มีกระบวนทัศน์ที่แตกต่างจากผู้คนในพื้นที่ภาคใต้ การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อบอกความต้องการ บอกเหตุบอกผลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นแม้ในช่วงเวลาที่มีกฎอัยการศึกก็ตาม
การเดินจึงถูกนำมาใช้เป็นวิถีการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพราะการเดินเป็นการเคลื่อนไหวที่สันติที่สุด เดินด้วยความสุภาพ ไม่มีแม้แต่โทรโข่ง มีเพียงธงและใส่เสื้อที่เป็นสัญลักษณ์ เดินเป็นแถวเป็นแนวให้ผู้คนตั้งคำถาม บางคนมาคุยด้วย บางคนโบกมือให้ บางคนงงงวย และการมีเวทีเสวนาในทุกเย็นในพื้นที่มีการค้างแรมจะเป็นช่วงเวลาของการรับฟัง การแลกเปลี่ยน การเก็บข้อมูล และเก็บพลังเพื่อการเดินต่อไปในวันรุ่งขึ้น
แท้จริงการเดินคือการทดสอบจิตใจตนเอง การเดินเป็นการแสวงหาจากภายใน การเดินเป็นการปลดปล่อยความกลัว การเดินคือการทำหน้าที่ เดินกลางแดดร้อน เดินกลางสายฝน เดินผ่านรถตำรวจทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ เหนื่อยล้าร่างกายแต่จิตใจเข้มแข็งขึ้น แม้จะมีการจับกลุ่มขาหุ้นที่เดินไปควบคุมตัวในค่ายทหารมาแล้ว 2 ครั้งที่สงขลา และสุราษฎร์ธานี แต่ความมุ่งมั่นของขาหุ้นอีกจำนวนมากก็พร้อมที่จะเดินแบบรับส่งไม้ผลัดให้ถึงกรุงเทพมหานครตามเจตนารมณ์เดิม
“โบ๋ไม่บาย” เดินแล้ว เพื่อสร้างกระแสการปฏิรูปพลังงานที่ยังให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ตกกับคนทั้งชาติ และกำลังรอเวลาที่คนไทยจะช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อม การมีส่วนร่วมคือคำตอบที่ยั่งยืนไม่ใช่ฮีโร่ เพราะการฝากความหวังไว้ที่ฮีโร่แต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปกับเดิมพันอนาคตของชาติในครั้งนี้
ประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วม เรามีส่วนร่วมได้ แม้ไม่มีการเลือกตั้งไม่มี ส.ส. นั่นคือเราใช้สิทธิในฐานะพลเมืองบอกกล่าวความเห็นความต้องการแบบประชาธิปไตยทางตรง แม้จะถูกจับ ถูกขึ้นบัญชีดำ ถูกดักฟังโทรศัพท์ แต่นั่นก็เป็นชะตากรรมที่ต้องยอมรับในฐานะพลเมืองแห่งประเทศไทย อำนาจไม่อาจสกัดกั้นสำนึกขบถที่ยืนบนความถูกต้องชอบธรรม เพราะเราทุกคนล้วนเป็น “โบ๋ไม่บาย”
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่