xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย! เปิดทาง “หมอ-พยาบาล” ผสมยาเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาเภสัชฯ ท้วงอีก ร่าง พ.ร.บ.ยา เปิดช่องหมอ พยาบาล วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร ผสมตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนแล้วได้ ชี้เกิดยาตัวใหม่ๆ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน แถมเสี่ยงอันตราย เหตุไร้การพิสูจน์ฤทธิ์ยาหลังการผสมยังคงตัวหรือไม่ สุดท้ายการรักษาอาจไม่ได้ผล และอาจปนเปื้อนเชื้อหากขั้นตอนผสมไม่สะอาด

ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า นอกจากข้อทักท้วงร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ในเรื่องของการแบ่งประเภทยา ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย เป็นต้น สามารถสั่งจ่ายยาได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตขายยา เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเภสัชกรรม และขยายวงปัญหาแพทย์ในคลินิกสั่งจ่ายยาเองโดยไม่ใช่หน้าที่แล้ว อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือ ในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถนำยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับแล้วมาผสมการแบ่งบรรจุยาได้ด้วย เรื่องนี้ถือว่าไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

ภก.กิตติ กล่าวว่า การผสมตำรับยาจะต้องดูสารส่วนผสม ความเป็นกรดด่าง ความคงตัวของยา ซึ่งแต่ละสูตรก็มีความต่างกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่วิชาชีพเภสัชกรรมเรียนมาโดยตรง แพทย์ พยาบาล หรือวิชาชีพอื่นแทบไม่ได้เรียนมา หรือเรียนมาน้อย ซึ่งสุดท้ายเมื่อผสมตำรับยาแล้วอาจเกิดปัญหายาไม่คงตัว หรือฤทธิ์ยาตัวใดตัวหนึ่งยังคงอยู่หรือไม่ เพราะการผสมยาเองก็ไม่มีการศึกษาถึงการคงตัวของยาที่แน่ชัด และยิ่งหากมีการผสมไม่ถูกต้องหรือไม่สะอาดก็อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้

“การผสมตำรับยาเช่นนี้ตามหลักแล้วถือว่าเป็นยาตัวใหม่ เช่น ผสมยาพาราเซตามอล และยาคลอเฟน ซึ่งเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับแล้วทั้งคู่ ยาที่ได้ออกมาก็ถือว่าเป็นยาตัวใหม่ จะมีการพิสูจน์อย่างไรว่าคุณสมบัติของยายังมีความคงตัวอยู่ เพราะการนำยามาผสมกันความเป็นกรดด่างจะเปลี่ยนไป ยาอีกตัวอาจละลายหายไปก็ได้ การรักษาก็อาจไม่ได้ผล การที่ออกกฎหมายเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มียาตัวใหม่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญไม่ต้องขึ้นทะเบียนยาด้วย ซึ่ง อย. ก็ไม่สามารถควบคุมได้ เท่ากับว่ากฎหมายไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า กพย. เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ควรจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ยา เนื่องจากปัจจุบันไม่มี ทั้งๆ ที่ประเทศต่างๆ อย่างญี่ปุ่น ก็มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวโดยเฉพาะ แต่ของไทยหากผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้ยา เช่น ตาบอด ก็จะต้องไปใช้สิทธิมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แทนที่จะมีกองทุนดูแลเฉพาะ โดยขณะนี้ กพย. เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ....ฉบับภาคประชาชน ให้แก่ คสช. พิจารณา

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น