xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ รมว.ศธ.คนใหม่แก้ขาดแคลนครู ดันอาชีวะเป็นผู้นำอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอศ. เตรียมชง 2 ประเด็นหลักเสนอ “ณรงค์” รมว.ศึกษาฯคนใหม่ผลักดันแก้ปัญหาขาดแคลนครู สนับสนุนกรอบอัตรากำลังทั้งข้าราชการครู และครูจ้างสอน ทั้งขอให้ผลักดันอาชีวะไทยเป็นผู้นำอาชีวะอาเซียน
นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์
วันนี้ (8 ก.ย.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมเสนอ 2 ประเด็นสำคัญต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเป็นประเด็นเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยประเด็นแรก คือ ขอให้ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูของ สอศ. ซึ่งเรื้อรังมาหลายปี เพราะ สอศ. ไม่ได้รับการจัดสรรอัตราบรรจุครูอย่างเพียงพอทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการรับครูจ้างสอนแทน โดยปัจจุบัน สอศ. มีครูผู้สอนทั้งหมด 14,486 ราย ในจำนวนนี้ 7,781 คน หรือครึ่งหนึ่งเป็นครูจ้างสอนที่วิทยาลัยเกลี่ยเงินอุดหนุนรายหัวและเงินบำรุงการศึกษามาเป็นค่าจ้าง ทั้งที่งบดังกล่าวควรจะได้นำมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า บางวิทยาลัยมีข้าราชการครูแค่ 9 คน แต่มีครูจ้างสอนกว่า 10 คน อีกทั้ง ครูจ้างสอนเหล่านี้ ก็มีสถานภาพที่ไม่มั่นคง ไม่มีสวัสดิการและไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเลย
 
“ปัญหาขาดแคลนครูเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2539 ที่มีนโยบายขยายให้เปิดอาชีวศึกษาอำเภอ หรือ วิทยาลัยการอาชีพซึ่งอนุมัติอาคาร ครุภัณฑ์ให้แต่รัฐไม่ได้จัดสรรอัตราบรรจุครูมาด้วย แต่ให้ สอศ. เกลี่ยครูจากวิทยาลัยอื่นๆ เองจึงเกิดปัญหาขาดแคลนสะสมมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 90 แห่ง แต่หากวิทยาลัยไม่มีครูจ้างสอน สอศ. จะต้องลดจำนวนรับนักเรียน นักศึกษาลงครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในภาวะที่ประเทศกำลังต้องการแรงงานทักษะสูงมาก ดังนั้น สอศ. จึงต้องการเสนอของบประมาณเพื่อจัดสร้างพนักงานราชการลูกจ้างจำนวน 14,564 คน เป็นพนักงานราชการครู 10,000 คน เป็นพนักงานราชการสายสนับสนุนการสอน 4,564 คน และขออัตราครู 1,409 อัตรา ให้สถาบันอาชีวศึกษา ทั้งนี้ สอศ. ได้คำนวณสัดส่วนครูต่อผู้เรียนที่เหมาะสมตามเกณฑ์ไว้ พบว่า จะต้องมีครูทั้งหมด 15,973 คน” นายชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 เป็นปีแรกที่ สอศ. ได้งบประมาณสำหรับครูจ้างสอน 370 คน และครูธุรการอีกจำนวนหนึ่ง แต่หากได้รับเพิ่มเติมก็จะวางแผนแก้ไขปัญหาขาดครูระยะยาวได้
 
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง สอศ. จะเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาไทยเพื่อสร้างความเข็มแข็งอาชีวศึกษาอาเซียน โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับอาชีวศึกษาอาเซียน มีแผนดำเนินการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558 - 2562) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ สนองนโยบายความต้องการกำลังคนของประเทศด้านอาชีวศึกษา และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ การดำเนินงานจะมี 2 ส่วนคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีวศึกษาไทยเพื่อความเป็นผู้นำ โดยจะพัฒนาครู อาจารย์ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล แม่นยำในเนื้อหาวิชาที่สอน โดยก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีเทคนิคการสอนรูปแบบใหม่ ให้ครู อาจารย์ ได้ไปสัมผัสในโรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความเข้มขันเรื่องระบบทวิภาคี ที่ต้องเชื่อมโยงกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ ทั้งของไทยและต่างชาติ รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ระดมสรรพกำลัง เพื่อพัฒนาคนของประเทศอย่างมีระบบ
 
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้อาชีวศึกษาไทยเป็นฮับของอาชีวะอาเซียนนั้น จะแยกดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม จะยกระดับความร่วมมือโดยตั้งเป็นกรรมการร่วมของกลุ่ม CLMV ในการทำแผนความต้องการกำลังคนที่เป็นความต้องการร่วมของกลุ่มประเทศ การให้ทุนนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนร่วมมือพัฒนาครู อาจารย์อย่างเป็นระบบ โดยไทยรับเป็นศูนย์กลางหลัก ในการพัฒนาครู อาจารย์ในกลุ่มอาชีวศึกษาอาเซียน ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนที่นอกเหนือจากนี้จะมีการวางแผนผลิตกำลังคนตามสาขา และระดับฝีมือที่เป็นที่ต้องการของประเทศ เพื่อสนองความต้องการแรงงานของแต่ละประเทศ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาอาเซียนที่ได้มาตรฐานและมีมาตรฐานคุณวุฒิ วิชาชีพในระดับอาเซียน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น