xs
xsm
sm
md
lg

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ (1)

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

เซ็นโซจิ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ถึงโตเกียวต้องเที่ยวที่นี่

ถ้านักท่องเที่ยวมาเมืองไทยแล้วไม่ได้ไปวัดพระแก้ว คนไทยอาจส่ายหน้าแล้วบอกว่า นั่นยังไม่ถึงกรุงเทพฯ แล้วถ้าใครไปโตเกียว ต้องไปเที่ยววัดไหนล่ะถึงจะได้ชื่อว่าไปถึงโตเกียว?

คนญี่ปุ่นไม่ตั้งมาตรฐานทำนองนั้น แต่ถ้าลองเอาแนวคิดแบบไทยมาเทียบ คงจะมีอยู่วัดหนึ่งที่เข้าข่ายหลักการประเมินว่าเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงโตเกียว

สถานที่แห่งนี้ ทีแรกผมว่าจะไม่...ไม่...ไม่ แต่แล้วก็อดไม่ได้

ที่ว่า “จะไม่” คือ จะไม่เขียนถึงวัดนี้ เพราะไม่อยากเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน สำหรับที่นี่ดูเหมือนเป็นวัดที่ใครๆ ก็รู้จักอยู่แล้ว และทุกคนที่ไปโตเกียวก็ไปเที่ยวกันอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ต้องไปให้ได้ ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น

แต่พอมานั่งตรองอีก เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวไทยหลายคนชอบถนนชอปปิงหน้าวัดมากกว่าที่จะรู้จักภูมิหลังของที่นี่ และเห็นว่าบางทีถ้าทราบมากกว่านี้อีกนิดการไปเที่ยวอาจมีคุณค่ามากขึ้น จึงเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า เล่ารวบยอดให้รู้จักไปทั้งแถบก็น่าจะดี จะได้รู้ว่าทำไมเมื่อไปแล้วจึงได้ชื่อว่า ‘ไปถึง’ โตเกียวตามดัชนีวัดพระแก้วของไทย

วัดที่ว่านี้ไม่ไกลจากบ้านที่ผมเคยอยู่ ยังจำได้ดีว่า ตอนที่เหินฟ้าไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนนั้น หลังจากคืนที่เดินทางถึงญี่ปุ่นแล้ว ในวันรุ่งขึ้นก็ได้ไปวัดนี้ทันที โดยมี “โอะกาซัง” (お母さん;O-kāsan แปลว่า “แม่” ในที่นี้หมายถึงคุณแม่อุปถัมภ์) พาไป พร้อมกับลูกสาว 2 คนของครอบครัว

โอะกาซังพานั่งรถไฟสายโทบุจากสถานีแถวบ้านไปแค่ 4 สถานี เราลงที่สถานีที่ใกล้วัดที่สุด โดยที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าวัดนี้ดัง แต่สังเกตจากผู้คนที่เดินมุ่งสู่วัดโดยหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จึงพอจะเดาได้ว่านอกจากเป็นที่ไหว้พระแล้ว วัดนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อด้วย

“เวลาไปมหาวิทยาลัย ต้องมาต่อรถไฟที่สถานีนี้นะ” โอะกาซังสอนผม ซึ่งได้แต่พยักหน้าหงึกหงัก ทำ ‘เสมือน’ ว่าเข้าใจทุกอย่างทั้ง ๆ ที่เป็นการชมโตเกียวรอบปฐมทัศน์ในชีวิต

“สถานีนี้ชื่อว่า อะซะกุซะ” โอะกาซังบอกชื่อสถานีที่เรามาลง

“A-SA-KU-SA” ผมทวนชื่อ ‘อะซะกุซะ’ ทีละพยางค์

“จากที่นี่ ต่อรถไฟใต้ดินสายกินซะไปสถานีนิฮมบะชิ แล้วต่อสายโทไซไปสถานีวะเซะดะ” โอะกาซังหยุดนิดหน่อย คงค้นหาสัญลักษณ์ในแววตาผมที่บอกว่าเข้าใจ พอเห็นท่า ‘เสมือน’ ว่าเข้าใจของผมแล้ว คำอธิบายที่เหลือจึงตามมาอีก “จากที่บ้านเราถึงวะเซะดะ รวมเวลาเดินด้วย ก็ประมาณชั่วโมงเศษ”

จำไม่ได้หรอกครับ...ชื่ออะไรก็รู้ ฟังไม่คุ้นหู นอกจากอะซะกุซะกับวะเซะดะซึ่งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยของตัวเองแล้ว ชื่อที่เหลือกลายเป็นอากาศธาตุผ่านหูไปอย่างไม่มีอะไรตกค้างให้เก็บมาเชยชมได้ ตอนนี้มานั่งนึกย้อนดูแล้วรู้สึกขำตัวเองที่วันนั้นจำชื่ออะไรแทบไม่ได้เลยจนต้องถามย้ำกับโอะกาซังอีกหลายครั้ง

หลังจากฟังคำอธิบาย จึงเข้าใจจุดประสงค์ของการออกจากบ้านวันนั้นแล้วว่า เป้าหมายหลักไม่ใช่การไปวัด แต่เป็นการสอนวิธีขึ้นรถไฟในญี่ปุ่น แต่ในเมื่อไปถึงตรงนั้นแล้ว เป้าหมายรองของพวกเราจึงได้รับการบรรจุไว้ด้วย และนั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รู้จักวัดนี้ซึ่งเป็นวัดแรกสุดในญี่ปุ่นที่ตัวเองได้ไป

โอะกาซังพาเดินออกจากสถานีอะซะกุซะ แล้วมุ่งไปทางวัด พวกเราเดินอยู่ภายในบริเวณวัด ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อไปกับผู้ใหญ่ ย่อมเป็นการชมทิวทัศน์แบบผู้ใหญ่ การจะไปซอกแซกมุมโน้นมุมนี้ของวัดอย่างที่ผมอยากทำจึงไม่เหมาะ หลังจากวันนั้น ผมจึงหมั่นเดินเข้าออกที่นี่ กลายเป็นที่มาของการไปเยือนวัดนี้ไม่ต่ำกว่าสามสิบครั้ง แต่จะแปลกอะไรในเมื่อสถานีอะซะกุซะคือสถานีทางผ่านซึ่งผมจะต้องต่อรถไฟอีกขบวนเพื่อไปเรียน วันไหนกลับเร็วก็แวะเถลไถลที่วัด วันไหนเบื่อ ๆ ก็แวะวัด วันไหนขัดอกขัดใจ ก็เข้าวัด ฟังดูเหมือนธรรมะธัมโม แต่แท้จริงคือเข้าไปเดินเล่น

พูดถึงวัดมาจนกระทั่งถึงบรรทัดนี้ ยังไม่ได้บอกเสียทีว่าวัดชื่ออะไร...

ผมถือเคล็ด (ส่วนตัว) ว่าจะเขียนคำว่า “วัด” ยี่สิบเก้าครั้งนับจนถึงคำล่าสุดเมื่อกี้ แล้วจึงจะเอ่ยชื่อ ถือเป็นคาถาบูชาความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง
เซ็นโซจิ
ได้ฤกษ์แล้ว...จึงขอประกาศว่า ชื่อของสถานแห่งนี้คือ “เซ็นโซจิ” (浅草寺;Sensō-ji) หรือวัดเซ็นโซ (寺;ji [หรือถ้าตัวอักษรนี้อยู่โดด ๆ จะอ่านว่า tera] หมายถึง วัด)

อันที่จริง โตเกียวไม่มีโบราณสถานโด่งดังให้นักท่องเที่ยวชมกันสักเท่าไร เมื่อพูดถึงโตเกียวใครๆ ก็เห็นแต่ภาพความเป็นเมืองที่มีคนพลุกพล่าน มีแหล่งชอปปิง และความทันสมัย แต่ในภาพลักษณ์ที่อ่อนด้อยด้านสถานที่โบราณของโตเกียว วัดที่มีชื่อเสียงที่สุด และมีคนไปเที่ยวมากที่สุด คือเซ็นโซจิในย่านอะซะกุซะที่โอะกาซังพาผมไปนั่นเอง นอกจากเป็นวัดแรกในญี่ปุ่นที่ผมได้ไปแล้ว ยังเป็นที่ที่ผมอธิษฐานทั้งๆ ที่เพิ่งมาญี่ปุ่นได้แค่สองวันว่า “ขอให้ได้กลับมาญี่ปุ่นอีก” ศักดิ์สิทธิ์เท่าใดผมไม่กล้ายืนยัน แต่ภายหลัง สิ่งที่เกิดคือ เมื่อโครงการแลกเปลี่ยนจบลง สองปีให้หลังผมได้ทุนและกลับไปญี่ปุ่นอีกในฐานะนักศึกษาปริญญาโท

เดอะโคมแอนด์ไอ

ตอนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ผมผ่านอะซะกุซะสัปดาห์ละ 5 – 6 วัน ความตื่นเต้นย่อมเป็นไปตามกฎการลดลงของอรรถประโยชน์ แต่ความคุ้นเคยเพิ่มขึ้นตามกฎของอุปทานด้านเวลา เมื่อยิ่งนานทำให้ยิ่งคุ้น ต่อมาจึงได้รู้ว่าเซ็นโซจิที่ตัวเองไปสักการะอยู่บ่อยๆ นั้น ไม่ใช่วัดที่มีพระพุทธรูปสายพระพุทธโคดมเป็นประธาน แต่เป็นวัดของพระโพธิสัตว์กวนอิม และเป็นวัดในพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโตเกียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ดีข้อหนึ่งสำหรับการไปเที่ยว

เซ็นโซจิมีตำนานการก่อตั้งว่า เมื่อ พ.ศ.1171 ชาวประมงสองพี่น้องพบรูปหล่อพระโพธิสัตว์กวนอิมติดตาข่ายของพวกตนขึ้นมาตอนที่หาปลาอยู่ในแม่น้ำซุมิดะซึ่งอยู่ใกล้ ๆ วัด หัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเลื่อมใสศรัทธาความศักดิ์สิทธิ์ ได้นำบ้านของตัวเองมาแปลงเป็นวัดเพื่อประดิษฐานรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิม วัดนี้ถึงได้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดอะซะกุซะคันนง” (観音;Kannon หมายถึง เจ้าแม่กวนอิม) คงด้วยเหตุนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยจึงเรียกอีกชื่ออีกอย่างหนึ่งด้วยว่า “วัดแคนนอน” ซึ่งเป็นชื่อยี่ห้อโด่งดังระดับโลก แต่ที่มาของการเรียกชื่อวัดแบบนี้ก็ไม่ได้ไกลห่างจากต้นกำเนิดของยี่ห้อนี้แต่อย่างใด เพราะชื่อยี่ห้อ “แคนนอน” นั้นมาจากคำว่า “คันนง” จริง ๆ (ยุคแรกที่ก่อตั้งบริษัทเขียนว่า KWANON)
ภาพการหว่านแหติดรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิม (จากม้วนภาพต้นกำเนิดเซ็นโซจิ)
ว่ากันว่ารูปหล่อนั้นมีขนาดราว 5-6 เซนติเมตรและไม่เคยนำออกมาเปิดเผย จึงไม่มีใครรู้ว่าของจริงเป็นอย่างไร หลังจากเซ็นโซจิสร้างเสร็จแล้ว ได้ถูกไฟไหม้หลายครั้ง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ให้แข็งแรงในสมัยคะมะกุระ (鎌倉;Kamakura; พ.ศ. 1728 – 1876) วัดนี้เป็นที่เลื่อมใสมาตั้งแต่โบราณ มีโชกุนและซะมุไรมาสักการะมากมาย

เมื่อมาถึงหน้าวัด ทุกคนจะสะดุดตากับประตูใหญ่ที่มีโคมขนาดยักษ์ห้อยอยู่ ผมรู้สึกว่าประตูนี้ดังกว่าวัดเสียอีก ใคร ๆ ที่มาก็อดถ่ายรูปกันไม่ได้จนประตูกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดไปเรียบร้อยแล้ว ประตูนี้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ฟูไรจิมมง” (Fūraijin-mon) โคมด้านที่หันเข้าสู่ตัววัดมีชื่อประะตูเขียนเป็นตัวอักษรญี่ปุ่นว่า風雷神門 หมายถึง “ประตูแห่งเทพเจ้าสายลมและสายฟ้า” (風 = สายลม, 雷 = สายฟ้า, 神 = เทพเจ้า, 門 = ประตู) ชื่อนี้ตั้งตามชื่อเทพที่ประดิษฐานตั้งตระหง่านอยู่สองข้าง จากด้านนอกเมื่อหันหน้าหาประตู ทางขวาคือเทพเจ้าสายลม ส่วนทางซ้ายคือเทพเจ้าสายฟ้า ทั้งสององค์สู้อุตส่าห์ยืนพิทักษ์ประตูอยู่ด้วยกัน แต่ครั้นจะเอ่ยนามก็บังเกิดความไม่ยุติธรรม เพราะประชาชนจำชื่อเต็มของประตูไม่ได้ หรือไม่ค่อยทราบกัน ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกประตูนี้กันว่า “คะมินะริ-มง” (雷門; Kaminari-mon) ซึ่งถือว่าเป็นชื่อสามัญตามที่เขียนติดอยู่ด้านหน้าของโคม เมื่อเป็นอย่างนี้ก็น่าน้อยใจแทนเทพเจ้าสายลม เพราะชื่อเรียกแบบนี้หมายถึง “ประตูแห่งสายฟ้า” อย่างเดียวไม่เกี่ยวกับลม
ด้านในของโคมยักษ์เขียนชื่อเต็มของประตูไว้ว่า “ฟูไรจิมมง”
ด้านหน้าของโคมเขียนชื่อประตูไว้ว่า “คะมินะริมง”
ประตูคะมินะริสร้างเมื่อ พ.ศ. 1485 แล้วบูรณะไปตามกาล ส่วนโคมที่เห็นอยู่ใต้ประตูนั้นไม่ได้มีมาตั้งแต่โบราณ แต่เริ่มเอามาแขวนเมื่อ พ.ศ. 2503 คนญี่ปุ่นอาจจะมองว่าโคมนี้คือของถวายแด่เทพเจ้าตามธรรมดา แต่ถ้าคิดตามความเข้าใจของคนไทยอย่างผม โคมนี้คือของแก้บน เพราะคนที่นำมาถวายได้ไปขอพรที่วัดนี้ให้ตัวเองหายป่วย พอคำขอสัมฤทธิ์ผลตามปรารถนา จึงซื้อโคมมหึมาไปถวาย ถ้าใครได้เห็นโคมของจริง ต้องทึ่งแน่ ๆ เพราะมีขนาดใหญ่โตมาก สูง 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.4 เมตร หนักประมาณ 670 กิโลกรัม ขนาดใหญ่โตถึงเพียงนี้ ผู้ที่ถวายต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ทว่าคงจะถวายไม่ได้แน่ถ้ามีแค่ศรัทธา เงินตราก็จำเป็นต้องมีมหาศาลเช่นกัน

ผู้ที่นำมาถวายหลังจากขอพรแล้วหายป่วยคือบุคคลที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันดี ชื่อโคโนะซุเกะ มัตสุชิตะ (松下幸之助; Matsushita, Kōnosuke) มัตสุชิตะเป็นบุคคลที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องมากคนหนึ่งและยังดังถึงระดับโลกด้วย เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมัตสุชิตะ อิเล็กทริก อินดัสเทรียล (Matsushita Electric Industrial Co., Ltd.) ชื่อนี้คนไทยจำนวนมากอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อเครื่องเสียงยี่ห้อ Technics, เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อเนชั่นแนล หรือพานาโซนิคแล้ว เชื่อแน่ว่าคงร้องอ๋อ สามยี่ห้อนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทมัตซูชิตะฯ ผลิต

โคมลูกปัจจุบันที่แขวนอยู่นี้ บูรณะแล้วเมื่อปี 2546 ใครอยากจะโพสท่างาม ๆ กับโคมนี้ให้ดูเหมือนมีแค่ ‘โคมกับฉัน’ โปรดไปวันธรรมดา อย่าได้ไปวันเสาร์อาทิตย์เด็ดขาด มิฉะนั้นท่านอาจได้หน้าตานานาชาติของใครก็ไม่รู้มาอยู่ในรูปด้วย
“คะมินะริมง” เป็นจุดถ่ายรูปสำคัญของนักท่องเที่ยว
**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น