ข้อมูลจากคอลัมน์ “ธรรมชาติบำบัด” โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เซกชัน Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน 2557
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2530 วารสารแห่งสมาคมแพทย์อเมริกัน ได้ตีพิมพ์บทความ เรื่อง คอเลสเตอรอล และอัตราการเสียชีวิต โดยติดตามผล 30 ปี ติดต่อกันจากการศึกษาของฟรามิงแฮม “Cholesterol and mortality 30 years of follow-up from the Frmingham Study” จัดทำโดย แอนเดอร์สัน (Keaven M. Anderson) และคณะ เอาไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอายุของคนกับการมีคอเลสเตอรอลซึ่งสรุปเอาไว้สำหรับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปว่า
“เมื่อระดับคอเลสเตอรอลลดลง 1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร กลับทำให้อัตราการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 11% และอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดและหัวใจเพิ่มขึ้น 14% หรืออีกนัยหนึ่ง หากคอเลสเตอรอลลดลงไป 1 มิลลิโมลต่อลิตร (ลดไป 38 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นถึง 429%”
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ก่อนอายุ 50 ปี คอเลสเตอรอลสูงไม่ดี แต่ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไป จะต้องอย่าให้คอเลสเตอรอลตกลง ยิ่งตกลงมากก็แปลว่าใกล้ที่จะเสียชีวิตมากขึ้นไปเรื่อยๆ
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคอเลสเตอรอลนั้น ส่วนใหญ่สังเคราะห์มาจากตับ มีประโยชน์ต่อร่างกายในการถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์ต่อเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนต้านความเครียด ฮอร์โมนต้านการอักเสบ น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ (โดยเฉพาะเซลล์สมอง) และฉนวนหุ้มปลายประสาท นั้นคือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีคอเลสเตอรอลต่ำลงคือคนที่มีตับสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้ลดน้อยลง และเป็นสัญญาณความเสี่ยงที่ใกล้จะเสียชีวิตมากขึ้นนั่นเอง
แต่เราก็ไม่ควรหวังการเพิ่มสูงของคอเลสเตอรอลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะต้องพิจารณาจากไขมันตัวดี HDL (High Density Lipoprotein) ประกอบกันด้วย เพราะ HDL ก็เป็นไขมันตัวดีที่ตับสังเคราะห์เช่นกัน โดยจะมีหน้าที่ ไปเก็บไขมันตามหลอดเลือดเอามาให้ตับสังเคราะห์ต่อเป็นฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนต้านความเครียด ฮอร์โมนต้านการอักเสบ น้ำดี วิตามินดี เยื่อหุ้มเซลล์ (โดยเฉพาะเซลล์สมอง) และฉนวน หุ้มปลายประสาท จากสถิติพบว่าคนที่มีความเสี่ยงในการจะเป็นโรคหัวใจ ก็คือ คนที่มีคอเลสเตอรอลเกิน 5 เท่าของ HDL ในช่วงหลังเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจึงกำหนดให้น้อยลงไปให้ไม่เกิน 4 เท่าตัว ของ HDL แปลว่าถ้าได้ตัวเลขต่ำกว่า 4 ก็จะปลอดภัยจากโรคหัวใจ แม้ว่าจะมีคอเลสเตอรอลสูงและไขมัน ตัวไม่ดีสูงก็ตาม หรือถ้าจะเทียบกับไขมันตัวเลว LDL (ซึ่งจริงๆ แล้วตัวมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน) ก็คือ LDL ไม่ควรเกิน 3 เท่าตัวของ HDL
หมายความว่าตับมีหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอล และสังเคราะห์ไขมันตัวดีด้วย ดังนั้น ถ้าอัตราการเผาผลาญต่ำลงนอกจากจะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้น้อยลงแล้ว ตับก็จะสังเคราะห์ HDL ได้น้อยลงด้วย นั่นคือสาเหตุว่าเหตุใดคนที่คอเลสเตอรอลต่ำถึงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้
ไข่ เป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลเป็นวัตถุดิบอยู่มาก โดยไข่แดงเป็นแหล่งอาหารของคอเลสเตอรอล แต่ไข่ขาวแทบไม่มีคอเลสเตอรอล ทั้งนี้ แคลอรีเกินครึ่งหนึ่งของไข่มาจากไขมันที่อยู่ในไข่แดง
จากข้อมูลข้างต้นถ้าจะสรุปให้สั้นที่สุดเกี่ยวกับไข่มีข้อคิดดังนี้ ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไป (สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติ) ควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ถ้าเลือกได้รับประทานไข่เป็ด (เพราะเป็ดกินอาหารหลากหลายมากกว่า) ถ้าเลือกให้ดีกว่านั้นควรเลือกไข่ที่ไม่เลี้ยงเป็นฟาร์มปล่อยสัตว์ปีกเป็นอิสระ (ไม่เครียด)
อย่างไรก็ตาม คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป บางคนไม่ควรรับประทานไข่เลย เพราะเป็นภูมิแพ้อาหารแฝงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก่อให้เกิดอาการได้หลากหลายชนิด เช่น ปวดหัว ปวดหัวไมเกรน นอนไม่หลับ ผื่นขึ้น หอบหืด ท้องผูก ท้องเสีย อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ ซึ่งหากมีเวลาก็ควรตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงจากภูมิคุ้มกันในระบบ IGG ซึ่งสามารถตรวจได้ที่ Man Nature Lab Center ติดต่อได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 096-065-3684 และ 096-065-3685
วิธีการรับประทานไข่สดที่ไม่ผ่านความร้อนจะสามารถรักษาไขมันโอเมกา 3 และวิตามินได้ดีกว่าการโดนความร้อนแต่ก็มีความเสี่ยงสูงหากไข่มีเชื้อก่อโรคปะปน ดังนั้น ถ้าจะเลือกไข่ให้โดนความร้อนก็ควรให้ไข่แดงไม่สุกมากเกินไป ในขณะเดียวกัน หากจะทอดก็ควรจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญให้ไขมันตัวดีเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับคอเลสเตอรอลด้วย โดยห้ามผัดทอดกับมาการีนเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว) เพราะจะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตามมาได้
แม้ไข่จะมีประโยชน์อยู่มาก แต่บางคนรับประทานไม่ได้เพราะเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง หรือรับประทานอาหารมังสวิรัติชนิดที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็ควรจะรักษาระดับอัตราการเผาผลาญไม่ให้ตกลงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ และดื่มน้ำมันมะพร้าวเพิ่มประสิทธิภาพของตับให้สามารถสังเคราะห์คอเลสเตอรอลและไขมันตัวดีให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย