xs
xsm
sm
md
lg

WHO ชู สสส.ต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ หนุนนานาชาติตั้งกองทุนสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

WHO ชู สสส. ไทย “ต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพโลก” หนุน นานาชาติตั้ง “กองทุนสุขภาพ” ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร ชี้ 13 ปี สสส. สื่อสารสังคมได้ผล ลดเสี่ยงเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ เพิ่มความเข้มแข็งสุขภาวะ

ดร.สุวจี กู้ดส์ ผู้ประสานงานด้านการส่ร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม องค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวภายหลังการนำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการด้านสร้างเสริมสุขภาพจากประเทศสมาชิกในองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) รวม 24 คน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บังกลาเทศ เนปาล มัลดีฟส์ และพม่า เข้าศึกษาและร่วมเรียนรู้การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า การมาศึกษาดูงานที่ สสส. ในฐานะเป็นองค์กรต้นแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้ว่า ทุกประเทศสามารถเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้ ถ้ามีกลไกการทำงานที่เข้มแข็ง ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกลไกการทำงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำงานในลักษณะองค์กรอิสระ ที่ช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายได้ง่ายขึ้น และยังส่งเสริมการทำงานกับภาครัฐได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นจุดเน้นหลักในบทบาทขององค์การอนามัยโลก ที่จะต้องเชื่อมโยงประเทศสมาชิกต่างๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ลักษณะการทำงานของ สสส. ไทยมากขึ้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้มีการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพเช่นเดียวกับ สสส. ไทย เพิ่มมากขึ้น

ดร.แคทริน แองเกิลฮาร์ดท ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการสร้างเสริมสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (WHO WPRO) กล่าวว่า สสส. เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในด้านผลงานที่ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบที่ยั่งยืนในลักษณะกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งหนึ่งของโลก มีโครงสร้างการทำงาน มีบอร์ดที่เข้มแข็ง ทำงานอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงของกลุ่มธุรกิจ หรือการเมือง ถือว่าคนไทยโชคดี ที่มีองค์กร แบบ สสส. ผลักดัน ให้ความสนใจกับสุขภาพของคนไทยทุกบริบทในสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทางด้านสุขภาพแก่คนไทยอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการรณรงค์สื่อสารทางสังคม ทำให้คนทุกกลุ่มเห็นคุณค่าของการมีสุขภาพที่ดี นำไปสู่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางที่ สสส. รณรงค์ให้ความรู้

ด้านทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นานาชาติให้ความสนใจเรื่องโครงสร้าง แนวทางการทำงาน และยุทธศาสตร์การทำงานลดปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของ สสส. เป็นอย่างมาก เนื่องจาก สสส. ทำงานก้าวสู่ปีที่ 13 แล้ว ได้ส่งเสริมให้เกิดการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบใหม่ ตามแนวคิดของ WHO ในการจัดการปัจจัยทางสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ (social determinate of health) พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และโรคไม่ติดต่อ ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ทั้งอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 มีอัตราการสูบ 19.94% อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงเหลือ 6.08 ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี ลดค่าใช้จ่ายค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ปีละ 20,000 กว่าล้านบาท และอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลง ทำให้มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุลดลงถึง 35% ผลการดำเนินงานทั้งหมดนี้ใช้การลงทุนที่น้อยมากเพียง 1% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก

ที่ผ่านมา สสส. ให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ เรื่องการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพสำเร็จแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย มาเลเซีย ตองกา เกาหลีใต้ เวียดนาม และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่อยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมาย อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน และ ฟิจิ เป็นต้น โดยสสส. ให้คำแนะนำเรื่องการจัดตั้งกองทุน การบริหารกองทุน โดยใช้นำกรณีตัวอย่างการทำงานของ สสส. ไปเป็นต้นแบบ และมีบางประเทศส่งเจ้าหน้าที่มาเรียนรู้งานที่ สสส. เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง” ทพ.กฤษดา กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น