xs
xsm
sm
md
lg

ทดสอบสารปรอทในเครื่องสำอางรู้ผลใน 1 นาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทยาศาสตร์ พัฒนาชุดทดสอบสารปรอทในเครื่องสำอางใน 1 นาที ตัวช่วยตรวจสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปรอทและสารประกอบของปรอทเป็นสารห้ามใช้ในสูตรตำรับเครื่องสำอางตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ทำให้สร้างเม็ดสีไม่ได้ผิวจึงขาวขึ้น และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ ปัจจุบันยังมีผู้ลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์ การใช้สารปรอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมในไตเป็นสาเหตุให้ไตอักเสบและไตวายได้ในที่สุด เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ดังกล่าวจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม แต่เดิมชุดทดสอบสามารถตรวจสอบได้เฉพาะสารปรอทแอมโมเนียเท่านั้น แต่ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ได้พัฒนาชุดทดสอบสารปรอทในเครื่องสำอางขึ้น เพื่อตรวจสอบสารปรอทและสารประกอบของปรอทให้ครอบคลุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่น เมอร์คิวริกไนเตรต เมอร์คิวริกออกไซด์ เมอร์คิวริกคลอไรด์ เป็นต้น

จากการพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าว ช่วยให้การนำไปใช้งานในภาคสนามมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาทดสอบไม่เกิน 1 นาที ซึ่งในขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ได้ดำเนินการผลิตชุดทดสอบสารปรอทในเครื่องสำอางดังกล่าวเพื่อจำหน่าย จำนวน 2 ขนาด ได้แก่ ชุดทดสอบกล่องละ 50 ตัวอย่าง ราคา 500 บาท และกล่องละ 10 ตัวอย่าง ราคา 200 บาท สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-5624-5618-20 ชุดทดสอบดังกล่าวมีขั้นตอนการใช้ไม่ยุ่งยาก โดยตักครีมด้วยไม้ตักตัวอย่างประมาณ 0.2 กรัม หรือขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วลิสง ป้ายครีมโดยรอบผนังด้านในของหลอดทดสอบหยดน้ำยาทดสอบประมาณ 0.25 มิลลิลิตร หรือ 20 หยด ลงในหลอดทดสอบ ปิดฝาหลอดทดสอบ คว่ำและหงายเบาๆ ประมาณ 10 - 20 ครั้ง อ่านผลการทดสอบทันที หากน้ำยาที่ก้นหลอดทดสอบเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม แสดงว่าตรวจพบสารปรอท แต่ถ้าน้ำยาทดสอบเป็นสีเขียวหรือไม่เปลี่ยนสี แสดงว่าตรวจไม่พบสารปรอท จากการเทียบเคียงผลตรวจของชุดทดสอบกับการตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการพบว่าให้ผลตรงกัน

รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 3 และ 4 (สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี) เฝ้าระวังความปลอดภัยเครื่องสำอาง (Cosmetic safety) อย่างต่อเนื่อง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมทาหน้าที่จำหน่ายในพื้นที่ ตรวจวิเคราะห์สารห้ามใช้ 3 ชนิด ได้แก่ สารปรอท ไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (2555 - 2557) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างรวม 220 ตัวอย่าง พบผิดมาตรฐาน 96 ตัวอย่าง (ร้อยละ 43.6) โดยตัวอย่างที่ผิดมาตรฐานพบว่าเป็นสารปรอทถึงร้อยละ 89.6 ดังนั้น ชุดทดสอบที่ศูนย์ฯพัฒนาขึ้นจะเป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่มีความสะดวกกับการใช้งานในพื้นที่ และช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สามารถนำไปใช้ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น