xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ร่วมแฉซ้ำ พบผัก-ผลไม้ปนเปื้อนต่อเนื่อง หนุนแล็บตรวจสอบก่อนวางขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทย์ ร่วมแฉ ยังตรวจพบผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีต่อเนื่อง เหตุใช้เกินปริมาณ เกษตรกรเก็บเกี่ยวก่อนกำหนดระยะเวลา เร่งหนุนห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบสารตกค้างในผักและผลไม้ เพื่อความปลอดภัยก่อนวางจำหน่าย

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเรื่อง “การรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ การตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด” ว่า จากการเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้การแข่งขันในทางการค้าทวีความรุนแรง มีการเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยี และสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงมาใช้ในการเพาะปลูกผักและผลไม้ ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณที่สูงเกินไป จะเกิดสารพิษตกค้าง เนื่องจากยาฆ่าแมลงแต่ละชนิดมีระยะเวลาสลายตัวต่างกัน จึงต้องมีการกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลังใช้ยาฆ่าแมลง แต่ปัญหาคือเกษตรกรยังเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด ทั้งที่สารพิษตกค้างยังสลายตัวไม่หมด ทำให้ตรวจพบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับปรุงมาตรฐานของสารพิษตกค้างใหม่ มีผลบังคับใช้วันที่ 27 พ.ค. 2554 โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับคณะกรรมาธิการของโครงการมาตรฐานอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างและกำหนดวิธีการตรวจวิเคราะห์อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษตกค้าง ทั้งนี้ การทดสอบสารพิษตกค้างในผักสดและผลไม้สด สามารถใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทย์ได้

ชุดทดสอบสามารถตรวจการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต ได้แก่ ชุดทดสอบ GT-Testkit ผลิตโดยบริษัทเอกชน ชุดทดสอบ เอ็ม เจ พีเค (MJPK) ปัจจุบันชุดทดสอบนี้กรมฯถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้บริษัท U&V โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิต และชุดทดสอบ M kit ปัจจุบันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ผลิต และชุดทดสอบ TM kit สามารถทดสอบยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก ผลไม้ และธัญพืชได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต และกลุ่มไพรีทรอยด์ ปัจจุบันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ อภ." อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ชุดทดสอบดังกล่าวช่วยตรวจคัดกรองเบื้องต้น การปนเปื้อน สารฆ่าแมลงตกค้างในผักสดและผลไม้สดของห้องปฏิบัติการทดสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยผักสดและผลไม้สดที่ได้รับจากผู้ผลิต/ตลาดค้าส่ง ก่อนวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือแหล่งที่นำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมทั้งหน่วยโภชนาการของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด ได้รับการรับรอง 23 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีห้องปฏิบัติการงานด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีการจัดทำระบบการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด และได้รับการรับรองมี จำนวน 9 แห่ง ซึ่งจะช่วยคัดกรองการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สดที่นำเข้าบริเวณด่านทั่วประเทศ

หากมีการตรวจพบผลบวก ห้องปฏิบัติการต้องส่งตรวจยืนยันอีกครั้งที่สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจยืนยันโดยใช้เครื่องมือพิเศษ (GC MS) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังพบปัญหาการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงตกค้างในผักสดและผลไม้สด การสนับสนุนห้องปฏิบัติการให้ตรวจสอบสารพิษตกค้างจะช่วยคัดกรองการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในผักสดและผลไม้สด” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น