xs
xsm
sm
md
lg

อย.ยัน “นำว่านหางจระเข้” รักษาโรคอีโบลาไม่ได้ เตือน ปชช.ใช้สติอย่าหลงกลสื่อออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตือนอย่าหลงเชื่อน้ำว่านหางจระเข้รักษาอีโบลาได้ที่เผยแพร่ในโซเชียล อย. ร่วมกับ สสจ.นครปฐม ลุยตรวจสอบน้ำว่านหางจระเข้ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย และยาสเตียรอยด์ที่อาจมีการลักลอบใส่ ย้ำ! ผู้บริโภคโปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อการโฆษณาโอ้อวดดังกล่าว

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์น้ำว่านหางจระเข้ S VERA ทางสื่อออนไลน์ และมีการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถใช้รักษาอาการโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอีโบล่าได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลิตภัณฑ์น้ำว่านหางจระเข้ S VERA มาขออนุญาตกับ อย. ในลักษณะเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผลิตโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอก อโล ตั้งอยู่เลขที่ 23/1 หมู่ 7 ถนนมาลัยแมน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จัดจำหน่ายโดย บริษัท ซัคเซสเมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 10/1-2 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ อย. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จึงได้ตรวจสอบทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการโฆษณาโดยสมาชิกขายตรงทางบริษัทไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำว่านหางจระเข้ S VERA บรรจุในกล่องกระดาษสีดำ ฉลากระบุ “เลขสารบบอาหาร อย. 73-1-05038-2-009 ส่วนประกอบว่านหางจระเข้ 99.97% วิตามินซี 0.03% แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติ ใช้วัตถุกันเสีย วันที่ผลิต 25/07/2014 วันหมดอายุ 24/07/2015 เขย่าขวดก่อนรับประทานควรเก็บไว้ในที่เย็น เด็กไม่ควรรับประทาน ไม่ใช่อาหารทางการแพทย์” ส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยตามประกาศฯ เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย และยาสเตียรอยด์ ที่อาจมีการลักลอบใส่ต่อไป

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นเมื่อดูจากสูตรส่วนประกอบของน้ำว่านหางจระเข้ดังกล่าวแล้ว และจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่สามารถรักษาโรคได้ ทั้งนี้ ผู้หลงเชื่อซื้อมาบริโภคโดยหวังผลการรักษาโรคอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาโรค จึงขอเตือนประชาชนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาโดยทางโซเชี่ยลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความส่งต่อๆ กัน ซึ่งอาจทำให้หลงเชื่อและเข้าใจผิดว่า น้ำว่านหางจระเข้ จะรักษาโรคอีโบลาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาตัวใดรักษาโรคดังกล่าวได้ เพียงอยู่ในขั้นตอนของการทดลองเท่านั้น หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตราย จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น