xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.หวั่นถูกเมิน ขอ คสช.ร่วมหารือจัดสรรงบ จวก สธ.จ่อฮุบเงินบริหารเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิมิตร์ เทียนอุดม
เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน หวั่นถูกเมินปฏิรูปสุขภาพ จ่อเดินทางไปกองทัพเรือขอ คสช. ร่วมประชุม 3 ฝ่าย สธ.- สปสช.- สสส. หารือการจัดสรรงบปี 2558 ร้อง คสช. อย่าหลงเชื่อ สธ. เดินถอยหลังเข้าคลอง จวกจัดสรรงบแบบใหม่ของ สธ. คือการขโมยเงินบริหารเอง

วันนี้ (30 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่หน้าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการฯ เครือข่ายสุขภาพ ประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคไต มะเร็ง และเอดส์ รวมทั้งตัวแทนศูนย์ประสานงานสุขภาพภาคประชาชนเขต กทม. กว่า 30 คน นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน เดินทางมาแสดงพลัง เพื่อร้องขอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า การหารือเรื่องการบริหารงบประมาณแบบบูรณาการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2558 ต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หลังฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.นัดประชุมเพียง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สปสช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาหารือถึงประเด็นดังกล่าวในวันที่ 31 ก.ค. เวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ

ทั้งนี้ นายนิมิตร์ กล่าวว่า การประชุมหารือดังกล่าวพบว่า ไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งที่ระบบสุขภาพเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ซึ่งผู้บริหาร สธ. ก็ไม่มีการเสนอหรือเห็นความสำคัญของภาคประชาชนที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้ป่วยเลย อย่างการที่ สธ. เชิญ สปสช. ประชุมหารือเบื้องต้นก่อนในวันที่ 30 ก.ค. ก็ไม่มีการเชิญเครือข่ายภาคประชาชน เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้มีการหมกเม็ดในการนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพหรือไม่ โดยสิ่งที่กังวลคือ สธ. ตั้งใจจะยืมมือ คสช. ในการปฏิรูประบบสุขภาพแบบถอยหลังเข้าคลอง โดยพยายามชูประเด็นปฎิรูปด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ ซึ่งเราไม่ได้คัดค้านการแบ่งเขตสุขภาพ เพราะถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ช่วยให้รู้ปัญหาและตั้งเป้าการแก้ปัญหาภายในเขต ถือเป็นการพัฒนาการบริการ แต่ไม่เห็นด้วยเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2558 แบบใหม่

“การจัดสรรงบแบบใหม่มีการเปลี่ยนเส้นทางการส่งเงิน จากส่งตรงไปยังโรงพยาบาล เป็นส่งไปยังเขตบริการสุขภาพที่มีคนของกระทรวงนั่งหัวโต๊ะ ในการอนุมัติหรือกระจายงบ แม้เงินจะอยู่ที่ สปสช. ก็ตาม อย่างงบบริการผู้ป่วยนอกให้ส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้ปรับเกลี่ยให้สถานบริการ ทั้งที่งบประมาณส่วนนี้อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช. จัดให้หน่วยบริการโดยตรง จัดสรรตามจำนวนประชากร การเอาเงินไปไว้ที่ สสจ. คืออะไร การปฏิรูปเช่นนี้ไม่ต่างจากการขโมยเงินไปบริหารเอง ถือว่าผิดหลักการและขัด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุว่างบจะต้องส่งตรงยังโรงพยาบาล หากจะเปลี่ยนการจัดสรรเงินก็ต้องเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช. ซึ่งก็ต้องไปดูกฎหมายด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ในวันที่ 31 ก.ค. เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยังกองทัพเรือ เพื่อขอ คสช. เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะภาคประชาชนคือตัวแทนของผู้ป่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบโดยตรง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการ สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การกำหนดนโยบายหรือปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องได้รับความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุชัดว่า ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในระบบด้วย แต่ที่ผ่านมา สธ. ไม่ให้ความสำคัญ เห็นได้ชัดจากการประชุมบอร์ด สปสช. ที่กำหนดชัดว่าต้องประชุมทุกเดือน แต่เมื่อมาถึงสมัย คสช. และมีปลัด สธ. ปฏิบัติหน้าที่ รมว.สาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม แต่กลับไม่เรียกประชุม ทำให้การอนุมัติสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเพิ่มเติมติดขัด

“ล่าสุด คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์พิจารณาเห็นชอบให้ใช้ยาสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แต่ต้องผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการของบอร์ด สปสช. ก่อน ก็ไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะไม่มีการประชุม เห็นได้ชัดว่า ทาง สธ. ละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย จึงอยากวอนขอ คสช. อย่าหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อในการทำให้ระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปหมด” น.ส.สารี กล่าว
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น