สธ. เผยขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวแล้วกว่า 1 แสนบัตร ระบุผลตรวจสุขภาพส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสุขภาพและออกบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ว่า ขณะนี้ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกนายจ้างและแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และ กัมพูชา ในการตรวจสุขภาพและออกบัตรประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้าสู่ระบบแล้วทั่วประเทศ 34 ศูนย์ อยู่ต่างจังหวัด 28 ศูนย์ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สุราษฎร์ธานี สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ กระบี่ สตูล ปัตตานี และ ชุมพร เป็นต้น และใน กทม. 6 ศูนย์ เช่น ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เป็นต้น เปิดให้บริการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. - 14 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 -1 6.00 น. ซึ่งในแต่ละแห่งจะมีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนวันละ 5,000 - 6,000 คน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ผลดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. - 15 ก.ค. สธ. ได้ตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพแล้วกว่า 1 แสนบัตร และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในต่างจังหวัดขายไปแล้วประมาณ 70,000 บัตร เช่น สมุทรสาคร 30,000 บัตร ชลบุรี 10,000 บัตร ระยอง 6,000 บัตร สมุทรปราการ 7,200 บัตร โดยเร่งรณรงค์ให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาตรวจสุขภาพให้ครบ ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่ง สธ. ได้ปรับลดค่าตรวจสุขภาพเหลือ 500 บาท และปรับลดบัตรประกันสุขภาพแต่สิทธิประโยชน์เท่าเดิม ส่วนเด็กที่ติดตามผู้ปกครองมาและอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพคนละ 365 บาท คุ้มครอง 1 ปี ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน สธ. กล่าวว่า สธ. จะตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจร โดยทุกคนจะต้องผ่านการเอกซเรย์ปอด เพื่อค้นหาโรควัณโรค เจาะเลือดหาซิฟิลิส เชื้อโรคพยาธิเท้าช้าง ตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟตามีน ผู้หญิงต้องเก็บปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจสภาวะโรคเรื้อน ผลการตรวจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือผู้ที่มีผลการตรวจสุขภาพปกติ ประเภทที่ 2 คือ ผ่านการตรวจสุขภาพ แต่มีภาวะติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องควบคุม ได้แก่ วัณโรค โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง ซิฟิลิส และโรคพยาธิลำไส้ ให้ทำการรักษาต่อเนื่อง จนตรวจไม่พบเชื้อ และประเภทที่ 3 คือ ผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หรือเป็นโรคต้องห้ามทำงาน 7 โรค ได้แก่ 1. วัณโรคระยะติดต่อ 2. โรคเรื้อนระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม 3. โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ 4. โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ปรากฏอาการ 5. ติดสารเสพติดให้โทษ 6. พิษสุราเรื้อรัง และ 7. โรคจิต จิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อน โดยผลการตรวจที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ ต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพของ สธ. แล้ว จะมีผลตั้งแต่วันที่ซื้อบัตร หากเจ็บป่วยทั้งจากโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน สามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ระบุในบัตร
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่