xs
xsm
sm
md
lg

ด่านชายแดนพร้อมรับแรงงานเขมร ลดค่าทำพาสปอร์ต สธ.ส่งทีมตรวจสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เครือข่ายคนจนชาวกัมพูชา บุกสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ร้องขอความเป็นธรรม อ้างถูกทหารใช้มาตรการผลักดันแรงงานออกโดยไร้มนุษยธรรม ด้านด่านชายแดนพร้อมรับมือชาวกัมพูชาแห่กลับเข้ามาทำงานวันนี้ แถมลดค่าทำพาสปอร์ตให้ "สาธารณสุข" ส่งทีมตรวจสุขภาพ พร้อมขายบัตรประกันสุขภาพ เล็งใช้สมุทรสาครโมเดลขึ้นทะเบียนแรงงานใต้ดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (25มิ.ย.) เครือข่ายคนจน พระภิกษุสงฆ์ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา สหภาพคนงานรับจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ และครู หลายร้อยคน ได้รวมตัวกันหน้าสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแรงงานชาวกัมพูชาที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย โดยในข้อเรียกร้องบางส่วนระบุว่า

“เราคนจนจากเครือข่ายต่างๆ มีความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ และมาตรการการปราบปรามแรงงานข้ามชาติอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการกระทำแบบเหมารวม ทั้งแรงงานถูกกฎหมาย และแรงงานผิดกฎหมาย โดยในส่วนของแรงงานที่มีเอกสารการทำงานครบสมบูรณ์ แต่ยังถูกผลักดันกลับประเทศนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวอย่างแพร่หลายในหมู่คนงานชาวกัมพูชาในประเทศไทย อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของแรงงานที่ถูกขู่กรรโชก และเรียกเก็บค่าคุ้มครองระหว่างการเดินทางกลับประเทศ ก็ยังจัดว่าเป็นมาตรการผลักดันแรงงานที่ไร้กรอบและมาตรฐานในการดำเนินการ ไม่มีการคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลต่อการคุกคามชีวิตของชาวกัมพูชาจำนวนหลายหมื่นคน ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงขอเรียกขอร้องสิทธิ์ในฐานะสมาชิกแห่งอาเซียน ให้ทางการไทยประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อทางออกของปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว”

นายเพียรม นักพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน กรุงพนมเปญ กล่าวว่า การแก้ปัญหาวิกฤตในปัจจุบัน หากไทยจะเข้าสู่อาเซียน ควรที่จะให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา และประเทศอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน ยึดมั่นในจิตวิญญาณของกฎบัตรอาเซียนที่พึงกระทำร่วมกัน เช่น ใช้มาตรการเพื่อกฎหมายแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานมากกว่าการมุ่งดำเนินการขับไล่เพื่อรักษาความมั่นคง หรือควรใช้มาตรการเชิงบวก ในการลดอัตราการว่างงาน และการสร้างงาน เพื่อลดการอพยพของแรงงาน ซึ่งในกรณีแรงงานกัมพูชานั้น รัฐบาลกัมพูชาและไทยควรเจรจาเรื่องการให้สวัสดิการ และการใช้แรงงานอย่างเหมาะสม ขณะที่ทางการกัมพูชาเองควรมีการแก้ไขปัญหาปากท้องของกัมพูชาด้วยบทบาทที่ดี เช่น มีการจัดสรรที่ดินเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต และที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้เป็นภาระประเทศที่จ้างงานมากเกินไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าที่เครือข่ายฯ เดินทางไปถึงสถานทูตไทย เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต ได้ปิดถนนไม่ให้มีการชุมนุม ตัวแทนเครือข่ายฯ จึงได้ยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่

แหล่งข่าวในศุลกากรกัมพูชา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องแรงงาน กัมพูชาไม่มีมาตรการปราบนายหน้าที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะการเรียกเก็บค่าทำงานต่างประเทศขณะนี้ มีการจ่ายค่าแรกดำเนินการ ประมาณ 6,000 บาทต่อคน เมื่อเอกสารเรียบร้อย ชาวกัมพูชา ที่ผ่านเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 20,000-30,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทใดก็ต้องทำ เพราะจ่ายเงินไปแล้ว หากไม่ทำจะไม่คุ้มค่าเดินทาง โดยอัตราคาบริการทั้งหมดนี้ แรงงานสามารถทำงานได้ในระยะเวลาประมาณ 9-12 เดือน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ประมาณเดือนละ 5,000-7,000 บาท ไม่รวมค่ากิน ค่าอยู่ และหากจ่ายเงินค่านายหน้าช้า ก็อาจเจอดอกเบี้ยเพิ่ม ทำให้แรงงานส่วนมาก ยังคงต้องทนทำงานในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

***รับมือแรงงานเขมรแห่กลับมาทำงาน

ที่ด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่จาก 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ด่านตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ฝ่ายปกครองจังหวัดสุรินทร์ จัดหางานจังหวัดสุรินทร์ และทหารชุดเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ได้จัดเตรียมอาคารสำนักงานหน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ 2 เป็นที่ทำการเฉพาะกิจในการจัดทำระบบการผ่านแดน การบันทึกข้อมูลการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานชาวกัมพูชาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเปิดรับอย่างเป็นทางการในวันนี้ (26 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป และคาดว่าจะมีแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางข้ามแดนมาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลังจากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองมาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ได้พากันทะลักกลับประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกรงกลัวว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการกวาดล้างอย่างรุนแรง ตามกระแสข่าวลือ

ขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองโอร์เสม็ด อ.กรุงสำโรง จ.อุดรมีชัย กัมพูชา ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ หน่วยงานประสานงานกัมพูชา-ไทย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองโอร์เสม็ด เจ้าหน้าที่อำเภอกรุงสำโรง จ.อุดรมีชัย เพื่อมาคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวกัมพูชาที่จะมาทำหนังสือเดินทางข้ามแดนไปประเทศไทยเพื่อทำงาน โดยได้ลดค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตแก่ประชาชนชาวกัมพูชา จากเดิม 6,000 บาท เหลือ 120 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกนับหมื่นบาท เพราะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีเงินทำพาสปอร์ต ต้องอาศัยการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเข้ามาทำงานตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย

***จัดทีมตรวจสุขภาพ-ขายบัตรประกัน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรองรับการไหลกลับของแรงงานต่างด้าวประมาณ 1.3 แสนคน ว่า ตามนโยบายของคสช. ได้ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยออกบัตรประจำตัวชั่วคราว อายุ 60 วัน ให้แก่แรงงานต่างด้าว ซึ่งจะกลับเข้ามาทาง 4 จังหวัด คือ สระแก้ว ตราด สุรินทร์ และศรีสะเกษ โดยให้อยู่ที่ศูนย์พักรอ เพื่อรอให้นายจ้างมารับกลับ ซึ่งตนได้สั่งการให้ สสจ. และโรงพยาบาลในจังหวัดปลายทางที่คาดว่าจะมีแรงงานชาวกัมพูชาไหลกลับเข้ามาประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดว่ามีจำนวนแรงงานต่างด้าวเท่าไร เพื่อเตรียมเจ้าหน้าที่จัดบริการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว

ทั้งนี้ ได้มีการปรับลดค่าตรวจสุขภาพจากเดิม 600 บาท เหลือ 500 บาท และบัตรประกันสุขภาพจาก 2,200 บาท เหลือ 1,600 บาท แต่ได้สิทธิประโยชน์เท่าเดิม แต่ถ้าแรงงานต่างด้าวไม่มาตรวจสุขภาพและซื้อบัตรประกันสุขภาพ เมื่อบัตรชั่วคราวหมดอายุ 60 วัน ก็จะถูกตามเพื่อส่งตัวกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม จะใช้สมุทรสาครโมเดล ที่จะเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวใต้ดินทั้งลาว กัมพูชา และพม่า ได้มาขึ้นทะเบียน ตรวจสุขภาพและซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพื่อเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย หากสมุทรสาครทำแล้วมีประสิทธิภาพก็จะขยายต่อไปยังจังหวัดอื่นที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากและขยายต่อไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ

***เผย3ล้านคนไม่มีหลักประกันสุขภาพ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมการจัดหางานพบว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายประมาณ 2.1 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว 1.8 ล้านคน นำเข้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศจำนวน 3 แสนคน ส่วนจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไม่ชัดเจน แต่มีการศึกษาว่าน่าจะมีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมมีประมาณ 4 แสนคน และซื้อบัตรประกันสุขภาพของ สธ.อีก 4 แสนคน เท่ากับว่ายังมีแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 3 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะเป็นปัญหาได้

โดยในปี 2555 มีแรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพ 587,000 คน พบป่วยวัณโรค 2,034 คน อยู่ในระยะแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ 195 คน โรคซิฟิลิส 1,359 คน โรคเท้าช้าง 38 คน สารเสพติด 321 คน ซึ่งโรงพยาบาลสังกัด สธ.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วย แต่เก็บเงินไม่ได้กว่า 300 ล้านบาท จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้แรงงานต่างด้าวทั้งหมดเข้าสู่ระบบ

"กฎหมายประกันสังคมไม่เหมาะกับแรงงานต่างด้าว เพราะตามกฎหมายจะครอบคลุมเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในสถานประกอบการที่จดทะเบียน แต่ไม่ครอบคุลมแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย แต่ไปทำอาชีพคนรับใช้ ประมง เกษตรกร เป็นต้น จึงมองว่าการดำเนินการในระยะต่อไปอาจจะต้องแก้กฎหมายให้เว้นแรงงานต่างด้าวออกจากระบบประกันสังคม แล้วไปอยู่ในระบบบัตรประกันสุขภาพของ สธ.แทน" นพ.ศุภกิจ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น