xs
xsm
sm
md
lg

อภ.เตรียมชี้แจง คสช.ทุกข้อหาการทำงาน เล็งของบแก้แบบโรงงานวัคซีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.อภ.ยันชี้แจง รพ. แล้วอาจเกิดเหตุยาขาดแคลน คาดสื่อสารไม่เข้าใจ ย้ำไม่จ้างโรงงานเอกชนผลิตแทน เพราะใช้เวลานาน ลั่นยาเอดส์ไม่ขาดแคลน เพราะมีวัตถุดิบผลิตแล้ว ปัดข้อหาไม่สั่งซื้อเพิ่ม เหตุราคาแพงกว่าจัดซื้อครั้งแรก ต้องรอเสนอบอร์ด เตรียมชี้แจงทุกปัญหาต่อ คสช. พร้อมขออนุมัติงบเดินหน้าแก้แบบโรงงานวัคซีนหวัดใหญ่/หวัดนก
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.องค์การเภสัชกรรม
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผอ.อภ.) กล่าวถึงกรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพตั้งข้อสงสัยกรณีรู้ล่วงหน้าเหตุการณ์ยาขาดแคลนจากการหยุดผลิตยาและลดกำลังการผลิตยาบางตัว เพื่อปรับปรุงระบบมาตรฐานการผลิต แต่ไม่มีการแจ้งโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ อภ. โดยปล่อยให้เผชิญหน้าสั่งซื้อยาแก้ปัญหาเอง ว่า จริงๆ แล้วฝ่ายการตลาดของ อภ. มีการชี้แจงกับลูกค้า หรือโรงพยาบาลต่างๆ แล้วว่าอาจเกิดผลกระทบด้านยาขึ้น จากการลดการผลิตยาบางรายการลง เนื่องจากต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิต หากโรงพยาบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนแล้วต้องการให้ อภ. จัดหา เราก็จะช่วยจัดหาให้ หรือหากโรงพยาบาลมีความสะดวกในการจัดซื้อยาเองก็มิใช่เรื่องยาก เพราะบริษัทยาเอกชนก็มักมีการส่งผู้แทนออกไปทำการตลาดอยู่แล้ว อย่างยาเบาหวานที่ อภ. ลดการผลิตลง ก็มองว่ายาของบริษัทเอกชนก็มีราคาใกล้เคียงกันหรือบางตัวอาจถูกกว่าของ อภ. ด้วยซ้ำ เนื่องจากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การที่ข่าวออกมาเช่นนี้อาจสะท้อนว่า มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกันหรือไม่เข้าใจกัน ซึ่งตนจะให้ฝ่ายการตลาดเร่งปรับปรุงในการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนเหตุที่ว่าทำไม อภ. ไม่จ้างโรงงานเอกชนผลิตยาแทน เป็นเพราะการให้โรงงานเอกชนผลิตให้นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะต้องผ่านในเรื่องของมาตรฐานจีเอ็มพี และ อย. ด้วย

นพ.สุวัช กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการขาดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ สปสช. ยอมรับว่าเป็นเพราะผลิตส่งให้ตามงวดไม่ทัน แต่ไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ป่วย เพราะวัตถุดิบลาบิวูดีนที่ส่งมาไม่ทันนั้น ขณะนี้ส่งเข้ามาทั้งหมดแล้ว 6 ตัน สามารถผลิตยาเม็ดลามิวูดีนได้ ส่วนที่ต้องแบ่งไปผลิตยาชนิดจีพีโอเวียร์แซด 250 ด้วยนั้น เพราะเป็นยาที่ อภ. สามารถผลิตได้รายเดียวในประเทศ หาก อภ. ไม่ผลิตก็อาจกระทบต่อผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ส่วนที่ตนยังไม่อนุมัติซื้อวัตถุดิบลามิวูดีนเพิ่มนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัทต่างประเทศได้เสนอราคาเข้ามาที่แพงกว่าการจัดซื้อครั้งที่แล้ว จึงต้องมีการเสนอที่ประชุมบอร์ดเสียก่อน สำหรับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิด AZT ที่ยังพอใช้ 6 เดือนนั้น กำลังเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด อภ. เพื่อจัดซื้อแก้ปัญหา ซึ่งมั่นใจว่าสามารถจัดซื้อเข้ามาผลิตได้ทันภายใน 6 เดือน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ไม่กระทบเรื่องขาดแคลนยาแน่

สำหรับยาอื่นๆ เช่น ยาจิตเวช ยาเม็ดเสริมไอโอดีน เรามีวัตถุดิบในการผลิต สิ่งที่ อภ.พยายามดำเนินการก็คือแก้ปัญหายาตัวไหนที่มีความต้องการเยอะก็จะเร่งผลิตให้ก่อน ซึ่งขณะนี้ก็พบว่ามีเครื่องตอกยากำลังการผลิตสูง 2 ตัว ซึ่งถูกนำไปเก็บไว้ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คาดว่าอาจเป็นเพราะช่วงหยุดผลิตยาจากกรณียาสลับแผง เลยทำให้ไม่ได้นำเครื่องออกมาใช้ ซึ่งขณะนี้ได้นำออกมาช่วยผลิตแล้ว 1 ตัว ช่วยให้การผลิตเร็วยิ่งขึ้น จาก 15 ล้านเม็ด เป็น 38 ล้านเม็ด แต่ที่ยังนำออกมาใช้ทั้ง 2 ตัวไม่ได้ เพราะอาจกระทบมาตรฐานการผลิตในเรื่องอุณหภูมิ ทำให้ขณะนี้สามารถจัดการกับปัญหายอดตัดจ่ายยาได้แล้ว 48% คาดว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว” ผอ.อภ. กล่าว

นพ.สุวัช กล่าวด้วยว่า ตนได้เข้าพบกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เพื่อชี้แจงทุกประเด็นแล้ว โดยสัปดาห์หน้าคณะทำงานของ สธ. และอภ. จะร่วมกันสรุปประเด็นที่มีการร้องและกล่าวหาถึงประสิทธิภาพการทำงาน เข้าชี้แจงต่อ คสช. สำหรับปัญหาก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จ.สระบุรี ซึ่งหยุดก่อสร้างนั้น เพราะผู้บริหารชุดก่อนได้ว่าจ้างบริษัทเข้ามาแก้แบบในงบประมาณ 59.3 ล้านบาท โดยใช้งบรายได้ของ อภ. เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบงบประมาณที่รัฐบาลจัดหาให้ จึงต้องให้ ครม.อนุมัติ แต่มีปัญหาทางการเมืองก่อน จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ หาก คสช. หรือรัฐบาลใหม่อนุมัติงบประมาณ ก็สามารถก่อสร้างได้ภายใน 513 วัน​ ทั้งนี้ โรงงานวัคซีนแห่งนี้ ได้รับอนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปี 2551 กรอบงบประมาณ​ 1,116 ล้านบาท ซึ่งได้แยกสัญญาการก่อสร้างโรงงาน และเครื่องจักรออกจากกัน โดยโรงงานก่อสร้างไปแล้ว 48% และสั่งซื้อเครื่องจักรมาแล้ว 68%

นพ.สุวัช กล่าวต่อว่า สำหรับโรงงานผลิตยาเอดส์ที่รังสิต ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งพบว่า มีปัญหาการตรวจรับงานในงวดที่ 9 และ 10 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการควบคุมความชื้นในอาคารการผลิต ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาก็ยืนยันว่าดำเนินการตามแบบ จึงมีการยกเลิกการว่าจ้าง ทำให้บริษัทรับเหมาฟ้องร้อง อภ.จำนวน 70 ล้านบาทว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการจัดหาบริษัทรับเหมารายใหม่ ดังนั้น จึงไม่ใช่แย่างที่กล่าวหาว่าให้บริษัทรับเหมาทิ้งงานรายเดิมเข้ามาทำงานใหม่แต่อย่างใด นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จึงได้เสนอให้บุคคลที่ 3 เข้ามาช่วยพิจารณาทบทวนก่อนลงนามในสัญญาที่จะจัดหมาบริษัทผู้รับเหมารายใหม่ด้วย โดยจะขอความช่วยเหลือมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ระหว่างการติดต่อ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน ในการทบทวนแบบเพื่อว่าจ้างบริษัทแห่งใหม่มาดำเนินการ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น