xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด อภ.แฉกลับผู้บริหารเก่าสร้างปัญหา เร่งล้างสายผลิตยาใหม่ ยอมกระทบดีกว่าผลิตยาไร้คุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.
ประธานบอร์ด อภ. ตอกกลับ ปัญหาผลิตยาทั้งหมด ก่อสร้างโรงงานยาและวัคซีนล่าช้าเกิดขึ้นช่วงผู้บริหารยุคเก่า ลั่นพยายามแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ล้างขบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงให้ดีขึ้น ตาม อย. แนะนำ จึงต้องปรับลดการผลิตยาเบาหวานลง ไม่ใช่เพราะกำไรน้อย เผยยอมเกิดผลกระทบด้านยาดีกว่าผลิตยาแบบไร้คุณภาพ ยันตัดงบวิจัยเพราะมีงบสะสม ไม่กระทบแน่ ระบุการใช้เงินกองทุนดอกพิกุลเป็นไปเพื่อประโยชน์ อภ. ไม่ใช่ประโยชน์ตัวเอง ด้าน ผอ.อภ. ชี้มีหน่วยงานภายนอกช่วยตรวจสอบ ช่วยให้องค์กรโปร่งใส

วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงกรณี 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ปลดบอร์ด อภ. และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. เนื่องจากบริหารจนทำให้โรงพยาบาลขาดยา ไม่ยอมผลิตยากำไรน้อย ส่อทุจริตการสร้างโรงงานใหม่ และใช้งบกองทุนดอกพิกุล ซึ่งเป็นงบกองทุนสวัสดิการพนักงาน อภ. ในการไปดูงานต่างประเทศ ว่า ตั้งแต่บอร์ด อภ. มีมติเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีต ผอ.อภ. ไปเมื่อ พ.ค. 2556 เนื่องจากมีความบกพร่องในด้านการบริหาร พบว่าเกิดเหตุการณ์ยาสลับแผงปนกันเมื่อ ส.ค. 2556 บอร์ด อภ. จึงมีมติขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบระบบมาตรฐานการผลิตยาของ อภ. ทุกสายการผลิต ซึ่ง อย. เสนอให้ปรับปรุงสถานที่และขบวนการผลิตใหม่ทั้งสายการผลิต และบางสายผลิตต้องหยุดผลิตทันที จึงกระทบต่อภาพรวมยาของ อภ. หลายชนิด อย่างช่วง ต.ค.- พ.ย. 2556 อภ. ต้องหยุดผลิตยาทุกสายการผลิตเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม จากเหตุดังกล่าว นพ.สุวัช ซึ่งเป็น ผอ.อภ. คนใหม่ จึงเสนอให้ปรับลดการผลิตยาบางรายการลง เพื่อคงการผลิตยาสำคัญตัวอื่นเอาไว้

นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จึงมีการลดการผลิตยาเบาหวาน Metformin ลง 50% เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นยาที่มียอดการผลิตสูงที่สุดถึงปีละเกือบ 900 ล้านเม็ด อีกทั้งยังเป็นยาที่โรงพยาบาลสามารถหาซื้อจากผู้ผลิตอื่นได้อีกมากกว่า 10 บริษัท ไม่ได้ลดกำลังการผลิตเพราะมีกำไรน้อยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากปรับปรุงโรงงานแมสโปรดักชันแล้วเสร็จจะสามารถกลับมาผลิตต่างๆ ได้ตามกำลังการผลิตเดิม ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาเริ่มผลิตใหม่ตามกำลังการผลิตเดิมใน ก.ค. ยกเว้นยาบางชนิดที่จะต้องมีการหยุดผลิตถาวร เช่น ยาผงเกลือแร่ เนื่องจากพบว่าสายการผลิตมีปัญหา เพราะขั้นตอนการผลิต โดยเฉพาะสายส่งมีความซับซ้อน จึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อน และต้องมีการควบคุมความชื้น หากคุมไม่ได้จะทำให้ยาไม่มีคุณภาพ ซึ่ง อย. เคยเตือนเรื่องนี้สมัยผู้บริหารชุดก่อนว่าให้ปรับปรุง นอกจากนี้ ยังต้องหยุดผลิตยาน้ำที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มด้วย

“ที่ยังไม่สามารถเริ่มเดินสายการผลิตโรงงานแมสโปรดักชันได้ เนื่องจากที่ผ่านมาอดีต ผอ.อภ. ได้ปรับปรุงมาร่วม 3 ปี และมีการตรวจรับ เม.ย. 2556 ซึ่งขณะนั้นคิดว่าสามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อเปลี่ยนผู้อำนวยการใหม่ และมีการเดินเครื่องในช่วง ต.ค. 2556 กลับพบปัญหาการผลิต โดยมีปัญหาในเรื่องห้องคลีนรูม และแผงบรรจุมีกลิ่น จึงต้องหยุดการผลิต โดยช่วงเวลานี้ยังอยู่ในช่วงประกันของผู้รับเหมาปรับปรุง จึงเป็นสาเหตุให้ต้องปรับลดการผลิตลง” ประธานบอร์ด อภ. กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กรณีการสร้างโรงงานยาที่รังสิตล่าช้า เพราะตรวจพบว่าในช่วงผู้บริหารชุดเก่า มีการอนุมัติเปลี่ยนแบบรายการครุภัณฑ์ที่สำคัญและมีการเพิ่มวงเงินการก่อสร้างรวมอีก 45 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มการประมูลใหม่ เพราะทีโออาร์เดิมไม่เหมาะสม ส่วนกรณีก่อสร้างโรงงานวัคซีนที่สระบุรีล่าช้า อยู่ระหว่างเสนอปลัด สธ.พิจารณาเสนอต่อ คสช. ในการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม ภายหลังมีการเปลี่ยนแบบที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นชอบแบบแล้ว สำหรับกรณีปรับลดงบการวิจัยจาก 45 ล้านบาท คงเหลือ 25 ล้านบาท เนื่องจากบอร์ด อภ. เห็นว่า งบวิจัยยังมีงบสะสมจากการที่ตั้งงบเป็นประจำทุกปีคงเหลือรวม 197 ล้านบาท เพียงพอต่อการวิจัยพื้นฐานในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า โดยไม่กระทบ และสุดท้ายข้อกล่าวหาการใช้เงินกองทุนดอกพิกุล ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วกองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนสวัสดิการพนักงาน อภ. แต่เป็นกองทุนสนับสนุนด้านกีฬา ซึ่งการเบิกจ่ายกองทุนนี้เป็นการเบิกจ่ายในภาพรวมกิจกรรมของ อภ.ที่ไม่เข้าเกณฑ์เบิกจ่ายของ อภ. แต่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของ อภ. ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งการระบุว่าตนมีการเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ ก็ล้วนเป็นกิจกรรมของ อภ.ทั้งสิ้น

อภ. ยังมีปัญหาที่สะสมรอการแก้ไขอีกหลายอย่าง เช่น วัตถุดิบที่สั่งซื้อมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ที่รักษาไข้หวัดใหญ่ สั่งซื้อรวม 864 ล้านบาท จะหมดอายุในปี 2558 และต้องทำลายทิ้งเกือบ 500 ล้านบาท กระทบต่อผลประกอบการ อภ.เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการจัดซื้อดำเนินการในช่วงผู้บริหารชุดเก่า ทั้งนี้ บอร์ด อภ. ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงโรงงานแมสโปรดักชัน และการเปลี่ยนแบบรายการโรงงานยาที่รังสิต ส่วนวัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์จะเสนอบอร์ด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดผู้บริหาร อภ.กำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงแก้ไข เราไม่กล่าวโทษใคร และไม่เคยว่าปัญหานี้ใครเป็นคนก่อ แต่นับจากนี้ อภ. จะเดินหน้าในการปรับปรุงผลิตยาให้มีคุณภาพ ซึ่งเรายอมให้เกิดผลกระทบด้านยาตอนนี้ดีกว่าเสี่ยงผลิตยาที่ไม่มีคุณภาพออกไป” นพ.พิพัฒน์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีความล่าช้าในการสั่งซื้อวัตถุดิบยาต้านไวรัสเอชไอวี นางนิภาพร ชาตะวิริยะพันธ์ รอง ผอ.อภ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสั่งซื้อวัตถุดิบขณะที่ยาสำเร็จเพียงพอที่จะใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้นาน 6 เดือน ซึ่งการสั่งซื้อวัตถุดิบก็จะดำเนินการทันในเวลาดังกล่าว

ด้าน นพ.สุวัช กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงเรื่องทั้งหมดต่อปลัด สธ. แล้ว อย่างเรื่องปัญหายาขาดแคลนที่โรงพยาบาลชุมชนบอกว่าขาดแคลนมากถึง 80 รายการ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี จึงต้องผลิตตัวที่เร่งด่วนก่อน โดยมีบริษัทเอกชนที่ให้โรงพยาบาลจัดซื้อได้ เช่น ยาทากล้ามเนื้อ ยาขับลม เป็นต้น ทั้งนี้ จากปัญหาระบบมาตรฐานการผลิตจึงต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพรัดกุมมากขึ้น จึงทำให้อัตราการผลิตยาลดลงบ้าง แต่จากการลดการผลิตก็พบว่า บริษัทเอกชนยังมีการผลิตยาตัวเดียวกันในราคาที่ใกล้เคียงหรือถูกกว่ามาทดแทน

“การที่ 8 องค์กรสุขภาพร้องเรียนให้มีการตรวจสอบระบบการทำงานของ อภ. ครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีการพัฒนา และปฏิรูป ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เคยเสนอแผนการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งในส่วนของบุคลากร และวิธีการทำงานเข้าบอร์ดไป 2 รอบ แต่ถูกคัดค้านว่าต้องมีการหารือ ทำประชาพิจารณ์จากพนักงานทั้งหมดก่อน” ผอ.อภ. กล่าว

เมื่อถามว่า จากกรณีที่ถูกร้องเรียนในครั้งนี้ ด้วยข้อหาการเป็นคนของการเมืองเก่า ในช่วงที่ คสช.กำลังรื้อระบบองค์กรรัฐวิสาหกิจนั้น นพ.สุวัช กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่ง ตนได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง และมาสมัครับคัดเลือกเป็น ผอ.อภ. จากผู้สมัครทั้งหมด 3 คน ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง ส่วนว่าเป็นปัญหาการเมืองหรือไม่นั้น เชื่อว่าเป็นปัญหาภายในที่ต้องปรับปรุงและปฏิรูป อภ. การที่หน่วยงานภายนอกมาช่วยกันตรวจสอบ ก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ อภ. โปร่งใส และเป็นองค์การเภสัชกรรมของประชาชน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น