โดย..เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
ณ เมืองอราวา (Arava) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล ดินแดนกึ่งทะเลทรายอันแห้งแล้ง สองข้างทางมีแต่ภูเขาหินทรายหัวโล้นไร้บ้านเรือน ไร้ผู้คน แต่เกษตรกรชาวยิวที่นี่ได้ร่วมสร้างอาณาจักรทางเกษตร หรือ โมชาฟอินฮายาฟ พลิกวิกฤตจากผืนทรายมาสู่พื้นที่สีเขียวและทำการเกษตรจนมีสินค้าหลายชนิดที่ส่งออกขายในต่างประเทศ ที่นี่จึงนับเป็นแหล่งที่รวมองค์ความรู้ขนาดใหญ่ที่ควรศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เล็งเห็นความสำคัญจึงได้มีการทำความร่วมมือกับ Arava International Center for Agricultural Training (AICAT) ประเทศอิสราเอลจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาพืชศาสตร์ระบบทวิภาคี โดยคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษก.) ปีละ 110 คนไปเรียนรู้เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่ทันสมัยและฝึกปฏิบัติงานจริงในฟาร์มของชาวอิสราเอล เป็นเวลา 11 เดือน ซึ่งทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน 2556 รุ่นที่ 14 โอกาสนี้ นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นหัวหน้าคณะนำทีมผู้บริหาร ร่วมในพิธีปิดโครงการพร้อมร่วมฟังการนำเสนอมินิโปรเจกต์ก่อนจบโครงการของนักศึกษา และร่วมพิธีมอบประกาศนียบัตรและยังได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาวิจัยของ AICAT เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โจทย์มินิโปรเจกต์ของนักศึกษาจะถูกกำหนดโดยฟาร์มเมอร์ที่เจ้าตัวไปทำงาน ซึ่งทุกคนต้องมานำเสนอในวันสุดท้ายต่อหน้าอาจารย์ผู้สอน ซึ่งฟาร์มเมอร์จะมาร่วมฟังด้วย น้องชี หรือ น.ส.ลำชี ชัยชุมพล วษก.มหาสารคาม เล่าว่า ตนได้รับมอบให้ทำวิจัยหัวข้อการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช (Green Pest Control) เป็นการกำจัดแมลงแบบไม่พึ่งสารเคมีทำได้อย่างไรและเขาให้เชื่อมโยงว่าแก้ไขปัญหาในประเทศไทย ตนจึงยกตัวอย่างการปลูกมันสำปะหลังงที่จะมีปัญหาเพี้ยเกาะกินก็ให้ใช้กลไกธรรมชาติก็คือแมลงด้วงทองเข้าไปกินเพี้ยแป้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาศัตรูพืชที่นี่จะไม่มากเพราะภูมิประเทศเขาแห้งแล้งต่างจากบ้านเราเป็นเขตพื้นที่ชื้น ทำให้มีแมลงศัตรูพืชมากกว่า แต่ที่อราวาในช่วงเวลานี้ (มิ.ย.) แต่ละโมชาฟฯเขาจะหยุดเพาะปลูกและรื้อโรงเพาะปลูกออกเพื่อกำจัดแมลง อย่างไรก็ตาม หัวข้อนี้ตนได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ผู้ดูแลหลังจากเปลี่ยนมา 2 รอบ เพราะแต่เดิมเจ้าของฟาร์มให้หัวข้อมาแต่ติดปัญหาในการเก็บข้อมูลอีกทั้งฟาร์มที่ตนไปทำงานนั้นอยู่ในโมชาฟฯใหญ่ที่สุดผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมากฟาร์มเมอร์จึงมีงานค่อนข้างยุ่ง
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ เชื่อนุ่น หรือ น้องกั๊ก วษก.ศรีสะเกษ บอกว่า ตนศึกษาเรื่องการวัดผลผลิตของมะเขือดำ โดยฟาร์มเมอร์ให้เปรียบเทียบใน 2 สายพันธุ์ เราก็ต้องมาเริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกการให้นำวัดอุณหภูมิ ซึ่งจะต้องจดบันทึกตลอดและทำสถิติเปรียบเทียบสายพันธุ์ได้ผลผลิตมากกว่ากัน ขนาดผลผลิตสายพันธุ์ใดดีกว่า ซึ่งของตนก็เจอปัญหาเช่นกันเพราะหลังจากทำการศึกษาไปได้ 2 เดือนฟาร์มเมอร์เพิ่งมาบอกว่าให้สายพันธุ์ทดลองผิด ก็ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่จนได้ผลออกมา ซึ่งครั้งนี้ฟาร์มเมอร์มานั่งฟังด้วยก็บอกว่าจะลองนำข้อมูลของตนกลับไปใช้ในการปลูกผลผลิตในฤดูกาลหน้า
ระยะเวลาเกือบ 1 ปี นับว่าคุ้มค่าที่ได้มาทำงานและได้เรียนรู้ น้องชี และ น้องกั้ก ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้สึก ว่า “ที่นี่สอนให้เรารู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบ เราได้เรียนรู้ว่าชาวยิวนั้นแม้แต่เรื่องเล็กเส้นผมบังภูเขาก็ไม่ปล่อยผ่าน ได้เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรที่เขาทำได้ดีมากที่สำคัญเขาร่วมมือกันดีมาก รัฐบาลก็สนับสนุนให้งบประมาณช่วยภาคเกษตร ศูนย์วิจัย AICAT เปรียบเสมือนสมองของเกษตรกรชาวยิวเขาอยากรู้อะไรไปบอกที่นั่นจะศึกษาให้ ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้มีอะไรด้อยไปกว่าเขาเลย เพียงแต่ยังขาดความร่วมมือการสนับสนุน ที่สำคัญอีกอย่างที่นี่สอนให้เราทุกคนอดทน เพราะความแตกต่างทั้งอากาศ ภาษา สภาพแวดล้อมทำให้แรกๆ ที่มาต้องปรับตัวค่อนข้างมากแม้จะได้รับการเตรียมพร้อมมานานถึง 6 เดือนก็ตาม แต่ระยะเวลา 1 ปีที่นี่คุ้มค่าสำหรับพวกเราที่ได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาการ เทคโนโลยีการเกษตรและได้ลงมือทำงานจริงๆ ในฟาร์ม ซึ่งจากนี้กลับไปพวกเราต้องไปเรียนต่อ 1 ภาคเรียนความรู้ที่ได้ก็จะนำไปประยุกต์ใช้และเมื่อเรียน ปวส. ก็จะต่อระดับปริญญาตรีทางด้านเกษตรเช่นเดิม”
ด้าน นายชาญเวช กล่าวว่า เป้าหมายของ สอศ. ที่ส่งนักศึกษาเกษตรมาเรียนรู้ที่อิสราเอลเพื่อให้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกประสบการณ์จริงมาประยุกต์ใช้กับการเรียนและการเกษตรของไทย และเพื่อให้เด็กได้เห็นว่าในประเทศที่เขาแตกต่างจากเราทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศเขาใช้เทคนิควิธีการใดทำเกษตรกรรมจนได้ผลผลิตมีคุณภาพ และจากการได้มาติดตามครั้งนี้ตนเชื่อว่านักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิต ได้ฝึกวินัย รู้จักการเป็นคนตรงต่อเวลา รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเฉพาะการได้รับปลูกฝังให้รู้จักลงมือปฏิบัติไปควบคู่กับการวิจัยซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้มแข็งทางการเกษตร และหวังว่าต่อไป นักศึกษาเหล่านี้จะเป็นแรงสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่รุ่นน้อง นอกจากนี้ สอศ. จะสนับสนุนให้นักศึกษาที่อยากต่อยอดไปสู่ารสร้างอาชีพสร้างรายได้เป็นของตนเองได้รับการอบรมเขียนแผนธุรกิจเพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนตั้งตัวได้ด้วย
จากนี้คงต้องฝากความหวังถึงน้องอาชีวะเกษตรทุกรุ่นทุกคนที่ผ่านการบ่มเพาะประสบการณ์จากที่แห่งนี้ และที่กำลังจะเดินทางไปเก็บเกี่ยวความรู้รุ่นต่อไปให้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเองยกระดับสู่การสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการเป็นกำลังสำคัญช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานต่อไป
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่