xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะหนุนเด็กเกษตรที่ฝึกงานอิสราเอลสร้างธุรกิจผ่านกองทุนตั้งตัวได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาญเวช บุญประเดิม มอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาที่จบหลักสูตรการเรียนร่วมระบบทวิภาคีโครงการ AICAT
อาชีวะหนุนเด็กเกษตรจากโครงการทวิภาคีร่วมอิราเอลต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างธุรกิจ ผ่านกองทุนตั้งตัวได้ “ผู้ช่วยเลขาฯ กอศ.” มั่นใจเป็นหนทางสร้างโอกาสและอาชีพ เพื่อต่อยอดความรู้และสร้างความเข้มแข็งทางเกษตรกรรม ขณะที่เตรียมฝึกเข้มข้นภาษาอังกฤษหลังพบเด็กยังประสบปัญหาในการสื่อสาร

นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการเดินทางติดตามและร่วมในพิธีปิดโครงการความร่วมมือกับ Arava International Center for Agricultural Training (AICAT) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาพืชศาสตร์ ระบบทวิภาคี รุ่นที่ 14 จำนวน 110 คนที่ประเทศอิสราเอล เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า โครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจากในประเทศเราไปผสมผสานกับวิถีชีวิตทางการเกษตรกรรมของประเทศอิสราเอลซึ่งมีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างมาก โดยที่นั่นทำเกษตรกรรมควบคู่กับการศึกษาวิจัยในทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้และได้รับการปลูกฝังการเป็นนักวิชาการควบคู่กับนักปฏิบัติได้ลงมือปลูกผลผลิตจริงในฟาร์มของเกษตรกร ได้เรียนรู้วิธีการที่จะประเมิน ตรวจสอบผลผลิต รวมถึงศึกษาและแก้ปัญหาโรคที่เกิดกับพืชผักและผลไม้ เป็นต้น ไม่ใช่ทำเกษตรแต่แบบเดิมโดยที่ไม่พัฒนาเรื่องใดเลย

“เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกประสบการณ์จริงที่ประเทศอิสราเอลมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรของไทย เพราะประเทศอิสราเอลนั้นมีข้อจำกัดทั้งเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มีความแห้งแล้งแต่กลับสร้างผลผลิตระดับโลกได้ แต่เราพบปัญหาด้วยว่านักศึกษาที่ไปฝีกงานที่อิสราเอลมีปัญหาในเรื่องของภาษาอังกฤษที่จะสื่อสาร เพราะฉะนั้น เฉพาะหน้าสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเดินทางในรุ่นต่อไปต้องให้พี่เลี้ยงที่อิสราเอลสอนภาษาอังกฤษอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง ทั้งภาษาที่ใช้สื่อสาร คำศัพท์ทางเกษตร เพื่อให้เขาสื่อสารกับเกษตรกรอิสราเอลได้โดยไม่ต้องพึ่งพาล่าม ขณะเดียวกันในส่วนของระบบการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมเด็กก่อนไปในระยะยาวก็ต้องเพิ่มการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ เรื่องของภาษาอังกฤษนั้นการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาตื่นตัวและผลักดันเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารทั่วโลก” นายชาญเวช กล่าว

ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าต้องสร้างแรงจูงใจและทัศนคติที่ต้องการกลับมาพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้แก่นักศึกษาทุกคนด้วย เพราะส่วนใหญ่เด็กยังขาดความกล้าและไม่มีตัวอย่างจึงขาดแรงจูงใจ แต่ที่จริงแล้วเราคาดหวังว่าเมื่อนักศึกษาที่จบจากโครงการนี้กลับมาประเทศไทยควรจะต้องต่อยอดองค์ความรู้ และควรต้องเป็นผู้นำให้กับนักศึกษาสาขาเกษตรรุ่นหลัง จึงอยากเห็นนักศึกษากล้าที่จะสร้างอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งทางการเกษตร ซึ่งอาจต้องหาช่องทางโครงการดีๆ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานจากประเทศอิสราเอลได้ชิงทุนเพื่อสร้างอาชีพเกษตรกรรมด้วยตนเอง ซึ่งตนเห็นว่ากองทุนตั้งตัวได้ เป็นหนทางหนึ่งโดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมจะผลักดันให้นักศึกษาที่สนใจลองเขียนโครงการเสนอเพื่อขอทุนสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งมองว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นเพราะมีประสบการณ์ฝึกปฏิบัติงานที่อิสราเอลหลายด้าน ขณะเดียวกัน ในเรื่องของแผนธุรกิจ สอศ. ก็สามารถประสานขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมอบรมการเขียนแผนธุรกิจให้ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประโยชน์ทางการศึกษานักศึกษาควรสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งทำได้ทั้งการที่วิทยาลัยจัดสรรพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทำโครงการปลูกพืชโดยเอาหลักการที่เรียนรู้มาดำเนินการเพื่อเป็นตัวอย่างแก่รุ่นน้อง หรือจะใช้ที่ดินของตนเองในภูมิลำเนามาพัฒนาโดยสถานศึกษา และหน่วยงานในพื้นที่มาร่วมดูแล เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาต่อยอดความรู้ของเด็กไปสู่ชุมชนได้
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น