xs
xsm
sm
md
lg

ผุดไอเดียให้ นศ.เกษตร ชูโปรเจกต์วิจัยคู่เรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ผุดไอเดีย ให้นักศึกษาเกษตร ปวส. 2 ทำโปรเจกต์วิจัยควบคู่กับการเรียน ชี้หากงานวิจัยได้ผลสำเร็จต่อยอดเป็นอาชีพให้ถือว่าผ่านฝึกงานทันที ระบุยังต้องถามความเห็นผู้บริหาร วท.เกษตรฯ รวมทั้งเสนอ เลขาธิการ กอศ. พิจารณากำหนดนโยบายในอนาคต

นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า การเกษตรนั้นเป็นสิ่งสำคัญตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ไม่ทรงต้องการให้ประชาชนทิ้งการเกษตร อีกทั้งโลกปัจจุบันและอนาคตมีความต้องการอาหารจำนวนมาก อาหารส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้ ดังนั้น ผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้จะมีความต้องการมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตเป็นที่ยอมรับระดับโลก ซึ่งเราก็ควรต้องรักษามาตรฐาน ควบคุณภาพ และเพิ่มมาตรฐานให้สูงขึ้น ทั้งนี้ หากสามารถพัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืนมีหลักการชัดเจน มีผลผลิตที่ได้คุณภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของโลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่เรียนทางด้านเกษตรกรรมต้องมีความตื่นตัว และมีการพัฒนาตนเองมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวตนมองว่าปัจจุบันการเรียนการสอนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัตินั้นดีอยู่แล้ว แต่ควรจะมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่เมื่อผ่านการเรียนไป 1 ปีขึ้นอยู่ปีที่ 2 วิทยาลัยและนักศึกษาเองควรจะพัฒนาตนไปสู่การเป็นนักปฏิบัติมากขึ้น หรือเรียนทฤษฎีควบคู่กับการวิจัย โดยทำได้ 2 วิธี คือ 1. นำผลจากการวิจัย หรือผลการทดลองที่มีผู้เคยทำไว้แล้วทั้งระดับมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยเกษตรฯ มาต่อยอดเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่และยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแก่ประเทศได้ และ 2. ถ้านักศึกษาคิดจะพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรชนิดใดด้วยตนเอง ให้ให้เริ่มทำการทดลองเมื่อขึ้นชั้น ปวส. ปีที่ 2 เพราะนักศึกษาเรียนผ่านมาแล้ว 1 ปี สามารถนำความรู้มาต่อยอด ทดลอง และวิจัยที่เกิดประโยชน์และสร้างผลผลิตใหม่ทางการเกษตร

“แนวคิดคือเมื่อนักศึกษาขึ้น ปวส. 2 ก็ให้ปรับมาเรียนควบคู่กับการศึกษาวิจัย ทดลองเพิ่มผลผลิตนำความรู้ภาคทฤษฎีที่ได้เรียนมาตั้งแต่ต้นมาสู่การลงมือปฏิบัติจริง ต่อไปแทนที่เด็กจะต้องออกไปฝึกงานข้างนอกก็ให้ปรับมาฝึกปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ที่กำหนด เช่น ใช้พื้นที่ในวิทยาลัย พื้นที่ในภูมิลำเนา หรือที่ดินของเด็กเอง อาจจะกำหนดว่ามี 5 - 10 ไร่ ทำการทดลองปลูกพืช หรือทำการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่ง หากปรากฏว่านักศึกษาสามารถสร้างงานวิจัยและได้ผลผลิตเป็นที่ประจักษ์ต่อยอดสู่อาชีพได้ ก็ให้ถือว่าผ่านการฝึกงานได้เลย ไม่จำเป็นต้องออกไปฝึกงานแบบที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้ผมว่ามีความเป็นไปได้ เพราะเห็นตัวอย่างจากนักศึกษาอาชีวะเกษตรฯ ที่ร่วมโครงการทวิภาคีกับประเทศอิสราเอล พบว่า เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่แตกต่างๆ ไปจากเดิม ที่สำคัญทำให้เด็กเข้าใจถึงหัวใจของการทำเกษตรกรรมที่แท้จริง”นายชาญเวช กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดซึ่งตนจะเสนอ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.พิจารณาซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายชัดเจนในอนาคต รวมทั้งจะต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นกับผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรฯ ในเรื่องดังกล่าวด้วย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น