สปสช. จ่อประชุมใหญ่ ดึง 2 กองทุนร่วมหารือจัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เตรียมเสนอ คสช. ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปี ขยายการทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ เน้นชุมชนบริหารจัดการดูแลตัวเอง ไม่ซ้ำซ้อนกองทุนชราภาพ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า วันที่ 22 ก.ค. สปสช. เตรียมจัดประชุมใหญ่ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการเสนอโครงการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Care) ซึ่งปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่องๆ และอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลในอนาคตได้ ทั้งนี้ ในการประชุมจะมีหลายหน่วยงานมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงต้องการการดูแล ซึ่งจะเป็นการตั้งกองทุนใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุทั้งประเทศโดยตรง ไม่ว่าจะจะอยู่ในสิทธิการรักษาใดมาก่อนก็ตาม
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สำหรับกองทุนดังกล่าวใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท มาจาก 2 ส่วน คือ งบประมาณกลางจากรัฐบาล และเงินสมทบจากท้องถิ่นหรือเทศบาลต่างๆ ส่วนละ 800 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง โดยแต่ละตำบลจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคนต่อปี โดยการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะๆ ละ 1 ปี โดยปีแรกจะเริ่มดำเนินนำร่องใน 10 จังหวัดที่มีความพร้อมก่อน และค่อยขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานนั้นจะเน้นให้ชุมชนดูแลกันเอง โดยจะมีการตั้งศูนย์ประจำการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สามารถเดินทางไปกลับเองได้ เรียกว่า ศูนย์เดย์แคร์ (Day Care) การดูแลจะเป็นลักษณะแบบไปเช้าเย็นกลับ
นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้วย ส่วนการเก็บเงินสะสมจากคนวัยทำงานอาจมีการดำเนินการในอนาคต แต่คงต้องหารืออีกครั้ง ที่น่าห่วงคือหากเราวางระบบไม่ดี ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุอาจมากกว่าค่าบริการทางสาธารณสุข เหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ประสบปัญหามาแล้ว และประชาชนเองก็เข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งการตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุที่จัดระบบบริการที่ชุมชน ดูแลโดยท้องถิ่น สนับสนุนโดยโรงพยาบาลจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
“กองทุนนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนชราภาพของประกันสังคม เพราะกองทุนชราภาพจะเป็นการเก็บเงินสะสม แล้วจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล แต่กองทุนดูแลผู้สูงอายุที่เสนอให้จัดตั้งใหม่นี้ จะเน้นเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนทุกสิทธิ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่