xs
xsm
sm
md
lg

ทวงพื้นที่ห้ามสูบคืน หลังฝ่าฝืน กม.เพียบแทบสำลักควันบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไม่สูบบุหรี่แทบสำลักควันตามที่สาธารณะ หลังสำรวจพบคน 2 ใน 3 ฝ่าฝืนกฎหมาย สูบบุหรี่ที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นที่ห้ามสูบ พบตลาด - สถานีขนส่ง - สนามกีฬา ฝ่าฝืนมากสุด สสส. ผุดแคมเปญ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” หวังรู้สิทธิ์ตัวเองและผู้อื่น รณรงค์ร่วมกันเช็กอินโพสต์รูปป้ายห้ามสูบแสดงสัญลักษณ์ขอคืนพื้นที่

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์จิตอาสาขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ “รวมพลัง ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ ในพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 100%” ว่า แม้คนไทยจะสูบบุหรี่ลดลง แต่เรื่องการรับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะยังเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งจากการที่ สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สำรวจสถานการณ์ควันบุหรี่มือสองในประชากรอายุ 15-64 ปี จำนวน 2,089 คนทั่วประเทศ ระหว่าง ก.พ.- มี.ค. 2557 พบสถานที่สาธารณะกว่า 2 ใน 3 มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ โดยตลาดสด ตลาดนัดเป็นสถานที่ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด คือ ร้อยละ 73.61 รองลงมาเป็น สถานีขนส่ง ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟ ท่าเรือ ร้อยละ 72.66 และสนามกีฬา ร้อยละ 67.88 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 45 ยังไม่รู้จักพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด และมีประชาชนเพียงร้อยละ 46 เท่านั้น ที่เคยเห็นสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย

“ปัจจุบันมีการละเมิดกฎหมายสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันจำนวนมาก สสส. และภาคีเครือข่ายฯ จึงริเริ่มโครงการรณรงค์จิตอาสาขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย พร้อมเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงรณรงค์สังคม กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ์ตนเอง สิทธิ์ของผู้อื่น และไม่ละเมิดสิทธิ์การมีสุขภาพดี โดยให้ความรู้กับประชาชนอย่างเข้มข้นในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ และทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายของการรณรงค์ลดจำนวนผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองลงได้ ร้อยละ 10” ทพ.กฤษดา กล่าว

ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า แคมเปญ “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1. On Ground จัดทำสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นพื้นที่ห้ามสูบ และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการไม่ละเมิดสุขภาพผู้อื่น โดยจะมีการแจกสติกเกอร์ตามจุดต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กทม. เพื่อเชิญชวนประชาชนและเจ้าของสถานที่ต่างๆ ให้เกิดจิตอาสาร่วมกันติดสติกเกอร์ 2. On Line โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ” ดาวน์โหลดได้ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่วน IOS ดาวน์โหลดได้วันที่ 20 มิ.ย. โดยให้ถ่ายรูปสติกเกอร์รณรงค์ที่ติดตามสถานที่สาธารณะ และโพสต์รูปพร้อมเช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน​ ซึ่งเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กและ www.nonsmokersright.com ที่จะแสดงแผนที่เขตปลอดบุหรี่ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะรณรงค์ทวงสิทธิ์ขอคืนพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ 100% และ 3. On Air โฆษณารณรงค์ทางโทรทัศน์ชุด “ไม่สูบ ก็เหมือนสูบ” ได้ชมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 19 มิ.ย.

“ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ทั้งพื้นที่ภายในอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคา ร้านค้า และร้านอาหาร ทั้งที่ติดเครื่องปรับอากาศและไม่ติด สถานที่โล่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ตลาดต่างๆ และยานพาหนะสาธารณะทุกชนิด ทั้งนี้ การจัดพื้นที่สูบบุหรี่จะต้องไม่จัดไว้ในอาคาร และต้องคำนึงถึง​ปัจจัยคือ 1. ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่อยู่บริเวณข้างเคียง 2. ไม่อยู่บริเวณทางเข้า - ออก ของสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และ 3. ไม่อยู่ในบริเวณที่เปิดเผย หรือเห็นได้ชัดแก่ผู้มาใช้สถานที่นั้น ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนสูบในที่สาธารณะห้ามสูบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มีโทษปรับ 2,000 บาท และฝ่าฝืนสูบบนยานพาหนะสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มีโทษปรับ 5,000 บาท” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจติดต่อขอรับสติกเกอร์รณรงค์ได้ที่ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nonsmokersright.com หรือ www.ทวงสิทธิ์ห้ามสูบ.com

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น