จุฬาฯ เปิดผลวิจัยพบ “สารแซนโทน” จากเปลือกมังคุดช่วยต้านอนุมูลอิสระ การอักเสบ สมานแผล รักษาเซลล์มะเร็ง ฆ่าเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา ฆ่าไวรัสเอชไอวี โรคผิวหนังอักเสบและสิว พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าก๊อซ ช่วยผู้ป่วยแผลไฟไหม้และติดเชื้อเคสแรกที่ รพ.นพรัตน์
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง “ผลิตภัณฑ์รักษาแผล ป้องกันเชื้อโรค ด้วยสารสกัดจากเปลือกมังคุด นวัตกรรมจากนักวิจัยจุฬาฯ” ว่า สารแซนโทน (Xanthone) มีสรรพคุณทางการแพทย์คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และสามารถสมานแผลรักษาเซลล์มะเร็ง และฆ่าเชื้อก่อโรคทางเดินระบบหายใจร้ายแรงได้ เช่น เชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา เชื้อก่อโรคผิวหนังอักเสบและสิว และมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อไวรัส เช่น HIV H5N1 เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าเปลือกด้านในของมังคุด เมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีพิเศษทางเคมีจะสกัดได้สารแซนโทนในปริมาณสูง โดยจะอยู่ในรูปแบบผง ซึ่งเก็บได้นานประมาณ 2 - 3 ปี
ศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะนำสารดังกล่าวมาปรับปรุงด้วยกระบวนการทางเคมี เพื่อให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อก่อโรคร้ายแรงที่เพิ่มขึ้น และทำการตรึงโมเลกุลของสารแซนโทนให้ติดบนผิววัสดุการแพทย์หลายชนิด เช่น หน้ากากอนามัย แผ่นก๊อซซับแผล พลาสเตอร์ยา น้ำยาทาแผล และแผ่นปิดสิว เป็นต้น ทั้งนี้ จุฬาฯ ได้ทำผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุด ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า สามารถใช้ได้จริงและมีวางจำหน่ายแล้วประมาณ 6 - 7 กลุ่ม รวมถึงพัฒนาทำเป็นแผ่นก๊อซปิดแผล สำหรับแผลที่มีขนาดค่อนข้างกว้างและใหญ่ ซึ่งนำไปใช้เป็นเคสแรกแล้วที่ รพ.นพรัตนราชธานี
“สำหรับผู้ป่วยรายนี้มาด้วยอาการแผลไฟไหม้ และมีการเชื้อดื้อยาต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3 เดือน ไม่สามารถกลับบ้านได้ แต่ภายหลังใช้แผ่นก๊อซสกัดจากเปลือกมังคุด 12 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ นับว่านอกจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันและฆ่าเชื้อไวรัส รวมถึงยับยั้งการติดเชื้อต่างๆ ได้แล้ว ผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดยังมีราคาถูกและไม่เกิดอาการแพ้ เนื่องจากมีการทดลองในผิวหนังของกระต่าย ที่สำคัญทุกกระบวนการทั้งการวิจัย ผลิต และพัฒนา เป็นฝีมือของคนไทย” ศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่