xs
xsm
sm
md
lg

สมศ.สรุปตัวบ่งชี้ใช้แทนยูเน็ตประเมินคุณภาพ 17 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.สมศ. เตรียมเสนอผลนำร่องประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 พร้อมรวบรวมผลสะท้อนจากสถานศึกษาเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ คาดสรุปตัวบ่งชี้ใช้แทนยูเน็ตต่อบอร์ด สมศ. 17 มิ.ย. นี้ ยันไม่ใช่ทีคิวเอฟแล้ว
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ.ในวันที่ 17 มิ.ย. 2557 นี้ ตนจะนำเสนอผลนำร่องการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559 - 2563) ซึ่ง สมศ. ได้นำร่างหลักเกณฑ์และตัวบ่งชี้ 20 ตัว ไปทดลองประเมินฯ สถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท และ ทุกขนาดทั่วประเทศ ประมาณ 300 แห่ง รวมถึงจะรวบรวมผลสะท้อนจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ในแต่ละตัว เช่น จำนวนชั่วโมงในการพัฒนาครูอาจารย์ที่สถานศึกษาบางแห่งอยากให้เพิ่มชั่วโมง แต่บางแห่งก็มองว่าเหมาะสมแล้ว หรืองานวิจัย สถานศึกษาบางแห่งอยากให้พิจารณาจากการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่นานาชาติมากยิ่งขึ้น แต่บางแห่งอยากให้ดูงานวิจัยพัฒนาท้องถิ่นด้วย ส่วนเรื่องการประเมิน คุณภาพศิษย์ โดยจะประเมินศิษย์เก่าด้วยนั้น สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธที่จะให้มีการประเมิน แต่ให้มีการพิจารณาเกณฑ์การประเมินในส่วนการร่วมพัฒนาวิชาการ กิจกรรม หรือส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากรการศึกษา เช่น เครื่องมือ การให้ทุนการศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีศิษย์เก่าที่แตกต่างกัน ต้องมาพิจารณาว่าจะมีเกณฑ์อย่างไร เป็นต้น

ผอ.สมศ. กล่าวต่อว่า สำหรับตัวบ่งชี้ที่จะใช้มาแทนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ ยูเน็ต นั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้ตัวบ่งชี้อะไร ซึ่งจากการศึกษาตัวบ่งชี้ในการประเมินสถานศึกษาในต่างประเทศ พบว่า มีการนำเรื่องของการออกกลางคัน หรือดร็อปเอาต์ของนักศึกษามาใช้ เพราะถ้ามหาวิทยาลัยมีคุณภาพนักศึกษาคงไม่อยากลาออก แต่ในประเทศไทย ต้องมาพิจารณาว่าจะใช้ได้หรือไม่ เนื่องจากนักศึกษาบางคนก็ขอให้มีที่เรียนก่อนแล้วค่อยไปสอบที่ใหม่ หรือมีข้อเสนอแนะให้ดูจำนวนนักศึกษาจบในแต่ละคณะ สาขาว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ จำนวนนักศึกษาตอนเข้ากับตอนจบมีกี่เปอร์เซ็นต์ หรือการมีงานทำ ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต ซึ่ง สมศ. จะสรุปและรวบรวมเสนอบอร์ด สมศ. และบอร์ด สมศ. จะสรุปตัวบ่งชี้ที่จะมาใช้แทนยูเน็ตในวันที่ 17 มิ.ย. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าคงไม่ใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ ทีคิวเอฟ เพราะมีตัวบ่งชี้อยู่แล้วเพียงแต่จะเลือกจะใช้อย่างไร

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น