xs
xsm
sm
md
lg

"คุรุสภา"ผ่อนปรน เกณฑ์การฝึกสอน นักศึกษา4สถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นักศึกษาที่ได้อยู่ในโครงการกองทุนการศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนครศรีอยุธยา มรภ.นครปฐม มรภ.กาญจนบุรี และ มรภ.เพชรบุรี สามารถไปฝึกสอนในโรงเรียนที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)ได้ โดยไม่ถือว่าผิดหลักเกณฑ์ เนื่องจากคุรุสภาได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนไว้ว่า มหาวิทยาลัยจะต้องส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจาก สมศ. เท่านั้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่คุรุสภาเห็นชอบให้นักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ต้องการให้นักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนที่ไกลจากมหาวิทยาลัย และเพื่อความสะดวกในการนิเทศก์การสอนของอาจารย์ อย่างไรก็ตามโรงเรียนที่อยู่ในโครงการดังกล่าว และคุรุสภาให้ความเห็นชอบในครั้งนี้มีจำนวน 63 โรงเรียน
“คุรุสภาอนุโลมให้เป็นการเฉพาะนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้เท่านั้น เพราะพบว่า โรงเรียนในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการรับรองจาก สมศ. และทางสำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี ได้มีบันทึกถึงคุรุสภา ให้พิจารณาผ่อนผัน ซึ่งเราได้พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดคุณภาพในการฝึกปฏิบัติการสอน ที่ประชุมขอให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ไปวางแนวทางการทำงานและแผนการนิเทศก์งานร่วมกับโรงเรียนและเสนอมาให้คุรุสภาพิจารณาด้วย” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาในการฝึกปฏิบัติการสอนในภาพรวมด้วย เพราะที่ผ่านมานิสิต นักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์ จะพบปัญหาเกี่ยวกับการไปฝึกปฏิบัติการสอนต้องเป็นโรงเรียนที่ สมศ.รับรองเท่านั้น ซึ่งบางครั้งโรงเรียนที่ได้รับการรับรอง จะอยู่ไกลมาก จนทำให้นิสิต นักศึกษาไม่สะดวกในการเดินทาง
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้ สภาคณะบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ไปทบทวนหลักเกณฑ์ แนวทางการฝึกปฏิบัติงานของนิสิต นักศึกษา อย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสอดคล้องกับระเบียบการฝึกสอนของคุรุสภา
อย่างไรก็ตาม การทบทวนหลักเกณฑ์การฝึกปฏิบัติการสอนครั้งนี้ นอกจากจะดูในส่วนของปริญญาตรีแล้ว ยังขอให้ไปดูในส่วนของปริญญาโท และ เอก ไปพร้อมๆ กันเนื่องจากขณะนี้ ผู้เรียนในระดับปริญญาโท และเอก เนื่อจากขณะนี้มีผู้จบจากสาขาวิชาอื่นมาเรียนในหลักสูตรการศึกษาระดับ ป.โท และเอก มากขึ้นซึ่งมีความต้องการใบประกอบวิชาชีพครู แต่ในหลักสูตรไม่มีการกำหนดว่าผู้ที่เรียนระดับป.โท และ ป.เอก จะต้องฝึกปฏิบัติารสอนตามหลักเกณฑ์ของคุรุสภา เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้นเมื่อจบหลักสูตรแล้วจึงไม่สามารถได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติเหมือนกับนิสิต นักศึกษาที่จบระดับ ป.ตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น