xs
xsm
sm
md
lg

“ประชานิยม” ปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
และแล้วประเทศไทยก็จะปฏิรูปการศึกษากันอีกครั้ง...
ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ และอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศไทย สิ่งที่ คสช. ได้ดำเนินการกับกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่ 2 เรื่อง คือ สั่งให้ทบทวนเรื่องนโยบายการแจกแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ป.1 และ ม.1 รวมถึงชะลอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโซน 4 ของงบประมาณปี 2556 ทำให้เรียกเสียงเฮให้กับบรรดานักวิชาการและพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่แรก ก็ได้แต่รอลุ้นอยู่ว่า จะเป็นเพียงการชะลอหรือระงับ และโละ โครงการนี้ทิ้ง!
ความจริงนโยบายแจกแท็บเล็ต ไม่ใช่ไม่มีข้อดี หลายประเทศเขาก็ทำกัน แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือนโยบายไม่ชัด แจกอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูความพร้อม หรือเตรียมความพร้อม หรือได้ศึกษาใคร่ครวญดีหรือยังว่ามันเกิดประโยชน์ต่อเด็กอย่างแท้จริง แม้จะมีงานวิจัยมีเสียงคัดค้าน ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เดินแนวทางเร่งจัดซื้อจัดจ้างโครงการอย่างเดียว
จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า หัวใจหลักของนโยบายแจกแท็บเล็ตก็คือ การจัดซื้อจัดจ้าง !!
ถ้าจำกันได้ เมื่อปี 2548 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยมีนโยบายประชานิยมก็คือการแจกถุงของขวัญให้กับเด็กแรกเกิดทุกคน ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ราว 800,000 คน ที่ได้รับแจกถุงของขวัญที่ภายในมีหนังสือ ของเล่น ฯลฯ นัยว่าการแจกครั้งนั้นต้องการให้เด็กทุกคนได้มีพัฒนาการที่ดี โดยไม่ได้สนใจกระบวนการเลยว่า เมื่อได้ชุดถุงของขวัญไปแล้ว พ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดจะทำอย่างไรกับหนังสือ จะเล่านิทานให้ลูกฟังไหม หรือส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างไร คือขอให้ได้ถือว่าแจก
และสุดท้ายก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า หัวใจหลักของนโยบายแจกถุงของขวัญก็คือ การจัดซื้อจัดจ้าง !!
โครงการครั้งนั้นมาเร็วไปเร็ว และล่มไม่เป็นท่า เพราะเอานโยบายการเมืองนำ มิได้เอาเรื่องการพัฒนาคน หรือ เอาเรื่องกระบวนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายอย่างไร กลับไม่ให้ความสนใจ
ล่าสุด คสช. เตรียมให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำเอาวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีเป็นรายวิชา แต่มีการปรับปรุงหลักสูตรหลายครั้ง จนถูกนำไปเป็นส่วนของรายวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) ตามมาด้วยวิชาสังคมศึกษา
ความจริงดิฉันเติบโตขึ้นมาเป็นรุ่นที่ทันหลักสูตรที่มีวิชาประวัติศาสตร์, วิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งก็มีอีกหลายวิชา เช่น วิชาพุทธศาสนา, วิชาศีลธรรม, วิชาอ่านเอาเรื่อง, วิชาเรียงความ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไป
ถ้าถามว่าดีไหม เห็นด้วยไหม ก็ยังตอบไม่ได้จริงๆ
รู้แต่ว่าถ้าในนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการระบบปกติ ก็คงไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะทิศทางของกระทรวงนี้ที่ผ่านมา ให้คุณค่าที่วัตถุนิยม ข้าวของเครื่องใช้ อาคาร ฯลฯ และการตะบี้ตะบันประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งคุณครูและนักเรียน ทำให้การศึกษาบ้านเราถึงได้บิดเบี้ยว และเราก็ผลิตคนเพื่อประเมิน เพื่อแข่งขัน และมองเห็นผลตอบแทนแต่ด้านวัตถุ
แต่..สิ่งที่รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “ขาด” ก็คือ “คุณภาพของคน” แต่กลับไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจเลย ตัวเลขงบประมาณที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ได้ลองจำแนกออกมาว่าในแต่ละปีของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้งบประมาณนั้นเอาไปทำอะไรบ้าง โดยเปรียบเทียบว่า งบประมาณ 100 บาท เป็นเงินเดือนครู 76 บาท, ค่าอาหารและเครื่องแบบ 10 บาท, ค่าบริหารจัดการ 6 บาท, ค่าอาคารและครุภัณฑ์ 5 บาท เหลือพัฒนาผู้เรียน 3 บาท
แล้วเด็กจะเติบโตไปด้วยคุณภาพแบบไหน ก็คิดเอา !!
เพราะถ้าการศึกษาถูกการเมืองครอบงำ และใช้เป็นเครื่องมือของการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเช่นทุกวันนี้ เราก็จงก้มหน้ารับชะตากรรมที่จะเห็นผลผลิตของชาติในอนาคตได้เลย ว่าจะเป็นมนุษย์แบบไหน
และในเมื่อ คสช. มองเห็นความสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นกระทรวงสำคัญต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา ก็ขอให้ได้พิจารณาให้รอบคอบ ตั้งโจทย์ให้ชัดว่าต้องการให้อนาคตของชาติเป็นอย่างไร จากนั้นก็กำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้เดินสอดรับกับแนวทางนั้น
ถ้าต้องการปฏิรูป “คุณภาพคน” ก็ต้องกำหนดนโยบายและเดินแนวทางให้ชัดในการสร้างคนคุณภาพในระบบการศึกษาแบบองคาพยพ ทำแบบมียุทธศาสตร์และยุทธวิธี อย่าทำเพียงเพื่อประชานิยม หรือทำเพื่อให้รู้ว่าทำ หรือทำเพราะคิดว่าบางเรื่องในอดีตมีก็นำกลับมาใช้ โดยไม่ได้ศึกษาว่าในอดีตก็มีข้อเสียเหมือนกัน
กรณีของการนำเอาวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมืองกลับมา เป็นการตอบโจทย์ที่จะทำให้คนกลับมารักชาติหรือสามัคคีจริงหรือ !
ในยุคสมัยที่ดิฉันและคนที่เคยทันเรียนวิชาเหล่านี้ คงจำกันได้ว่า เราสนใจวิชาเหล่านี้จริงหรือเปล่า คุณครูที่สอนวิชาเหล่านี้น่าเบื่อขนาดไหน ไม่ใช่ว่าสอนแล้วน่าสนใจทุกคน ครูที่สอนดีนักเรียนก็สนุกและเกิดการเรียนรู้มากมาย
และ..พวกเราต่างก็รู้ดีว่า การที่คนเราจะมีความรักชาติ มีจิตสำนึกที่ดี มีความสามัคคี มีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหมายรวมถึงสภาพสังคมในอดีต และปัจจุบันก็มีความแตกต่างกันมาก การจะปฏิรูปการศึกษาต้องดูสภาพโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และควรจะสอดรับกับสภาพของโลกความเป็นจริงด้วย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราได้พัฒนา “คุณภาพคน” หรือ “คุณภาพครู” แล้วหรือ !!
ประเด็นหัวใจของการปฏิรูปคือ “คน” ไม่ใช่ “(สิ่ง) ของ”

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น