วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุน รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสรรพคุณของนม และดื่มนมอย่างเพียงพอ
กระทรวงสาธารณสุขบ้านเราก็มักนำผลสำรวจมาชี้แจงทุกปีเช่นกัน ล่าสุด พบว่า เด็กไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ต่ำกว่าเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก 3-7 เท่าตัว โดยเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดื่มเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ขณะที่เด็กทั่วโลกดื่มเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ มีความสูงเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างเตี้ย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร และผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตรเท่านั้น
ในการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัยมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1 จึงได้มีการรณรงค์ทั้งเรื่องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่ รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ พร้อมดื่มนมทุกวัน โดยในวัยเด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดา 2-3 แก้ว วัยเรียนดื่มนมวันละ 2 แก้ว
ประเด็นเรื่องเด็กไทยดื่มนมน้อยนั่นเรื่องหนึ่ง แต่ประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันก็คือ เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ดื่มนมก็เลือกดื่มนมรสหวานอีกต่างหาก !
และนั่นคือเหตุผลใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กไทยติดรสหวาน เพราะเมื่อดื่มนมรสหวาน ก็มักจะทำให้ติดใจในรสหวาน เมื่อไปบริโภคอาหารชนิดอื่นๆ ก็จะเลือกรสหวาน และก็จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณรสหวานมากขึ้นไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัว สุดท้ายก็ทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อโรคภัยไข้เจ็บอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
ถ้าพ่อแม่ใส่ใจในเรื่องนี้ตั้งแต่ลูกวัยทารกก็จะช่วยป้องกันได้ เริ่มด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยนมผง และเมื่อลูกสามารถกินอาหารเสริม คุณแม่ควรจะปรุงอาหารให้ลูกเองด้วยรสธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงรส เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถรับรู้รสชาติของอาหารได้ และเขายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนเป็นพ่อแม่ควรถือโอกาสออกแบบอาหารให้ลูกได้กินด้วยรสธรรมชาติ
แต่ถ้าคุณให้ลูกเริ่มนมผง หรือนมรสหวาน ลูกก็จะติดใจ และไม่ยอมกินนมรสจืดหรือกินอาหารรสธรรมชาติอีกเลย
เด็กที่ติดนมรสหวาน เมื่อเขาเริ่มโต สามารถเลือกอาหารเองได้แล้ว มีแนวโน้มว่าเด็กเหล่านี้จะติดน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือขนมกรุบกรอบ เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยน้ำตาล เพราะพวกเขาติดใจในรสชาติที่หวาน
ฉะนั้น ถ้าเด็กติดรสหวาน ก็จะติดเรื่อยไปจนกระทั่งโต สุดท้ายเด็กเหล่านี้จะไม่ชอบกินผักผลไม้หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ แต่จะติดขนมหวาน น้ำอัดลม และอาหารหวานๆ มันๆ
แล้วถ้าลูกติดนมหวานและรสหวานแล้วล่ะ จะทำอย่างไรดี?
ประการแรก พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวต้องตกลงกันก่อนเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในการแก้ไขพฤติกรรมของลูก ถ้าลูกเริ่มโตและเข้าใจเหตุผลบ้างแล้ว ต้องเริ่มจากพูดคุยกับลูกให้ลูกกลับมาดื่มนมจืด ในช่วงแรกอาจจะใช้วิธีต่อรองด้วยการสลับได้บ้าง หรือใช้วิธีลดปริมาณนมหวาน และเพิ่มปริมาณนมจืดมากขึ้น อาจจะต้องอาศัยเทคนิคอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เช่น บอกลูกว่าไม่อยากให้ลูกฟันผุ อาจจะมีหนังสือนิทานประกอบ หรือมีตัวอย่างประกอบจากเรื่องจริงก็ได้ ฯลฯ
ประการที่สอง กรณีที่ลูกติดนมหวานจนกลายเป็นติดรสหวานในอาหารชนิดอื่นๆ ด้วย อาจต้องใช้วิธีค่อยๆ ลดปริมาณลงก่อน ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค่อยๆปรับตัว ไม่ควรลดฮวบฮาบ เพราะอาจทำให้ลูกปฏิเสธและไม่ยอมให้ความร่วมมือก็ได้
ประการที่สาม พ่อแม่หรือคนที่ปรุงอาหารในบ้านต้องไม่ปรุงอาหารรสหวาน หรือลดปริมาณรสหวานลง หรือถ้าพ่อแม่ที่คนในบ้านติดรสหวานอยู่ ก็ต้องถือโอกาสแก้ไขพฤติกรรมนี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน อีกทั้งยังทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือแปลกแยกอยู่คนเดียว แต่เขาเห็นทุกคนกินอาหารเหมือนกันหมด ก็จะไม่รู้สึกอะไร จนกลายเป็นความเคยชิน
ประการที่สี่สมาชิกในบ้านต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แม่ห้ามไม่ให้ลูกกินนมหวาน แต่เวลาไปอ้อนพ่อแล้วพ่อยอม ก็จะทำให้การแก้ไขไม่ได้ผล
ต้องจำไว้เสมอว่าการแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก ต้องใช้เวลาและความอดทนของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้าน จึงจะสำเร็จ ถ้าทำๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอก็จะไม่ได้ผล
ปัญหาเรื่องเด็กไทยไม่ค่อยสูงและมีเกณฑ์เฉลี่ยที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วยังต้องมาเจอปัญหาเรื่องเด็กติดรสหวานอีก ซึ่งเด็กไทยก็มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนติดอันดับโลกกับเขาด้วย
นี่ยังไม่นับรวมพฤติกรรมของเด็กไทยที่วันๆ ก็อยู่แต่หน้าจอสารพัดไอที และไม่ชอบออกกำลังกายหรือวิ่งเล่นนอกบ้านอีกต่างหาก
แล้วจะไม่กังวลใจได้อย่างไรว่า เด็กไทยยุคหน้าจะทั้งเตี้ยและอ้วนน่ะสิ !!
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่