สกอ. หารือร่วมมหา’ลัย แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ เห็นตรงจัดสอบรับตรงร่วมกันโดยใช้ข้อสอบกลางในวิชาสามัญ คาดจัดสอบประมาณเดือน ก.พ. หลังเด็กเรียนครบหลักสูตร พร้อมขอ ทปอ. หารือร่วม กสพท. จัดสอบก่อนการสอบอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเด็กสอบติดแพทย์แล้วสละสิทธิ์คณะอื่น จนกลายเป็นการกันสิทธิ์ผู้อื่น
วันนี้ (28 พ.ค.) นางวราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ. เป็นประธาน ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะจัดสอบรับตรงในช่วงเวลาเดียวกัน และใช้ข้อสอบกลางร่วมกันและดำเนินการภายหลังนักเรียนเรียนครบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของนักเรียนและลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มจัดสอบได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป โดยช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเหมาะสมที่จะจัดรับตรงร่วมกันที่สุด เพราะนักเรียนจะเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเดือนมีนาคม ขณะที่มหาวิทยาลัยเลื่อนเปิดภาคเรียนรับอาเซียนเป็นช่วงเดือนสิงหาคมด้วย
นางวราภรณ์ กล่าวต่อว่า การสอบรับตรงจะใช้ข้อสอบกลางเฉพาะวิชาสามัญเท่านั้น ส่วนวิชาเฉพาะของแต่ละคณะ/สาขา มหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบเองได้ โดยไม่จำกัดเวลา พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก) เป็นตัวกลางไปหารือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาด้านศิลปะ ว่าจะสามารถจัดสอบวิชาเฉพาะร่วมกันได้หรือไม่ โดยที่ประชุมเห็นว่าในสาขาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องสอบวิชาเฉพาะ หากจัดสอบร่วมกันได้ก็จะช่วยลดภาระการสอบของเด็กได้มาก อย่างไรก็ตาม จากนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมาหารือร่วมกันในรายละเอียดของการสร้างข้อสอบ ช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อแจ้งให้นักเรียนทราบ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีการศึกษา 2559
“ส่วนที่ว่าการรับตรงร่วมกันจะใช้ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ ซึ่งใช้ในการรับตรงในระบบเคลียริ่งเฮาส์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด้วยหรือไม่ ในอนาคตคงต้องมาดูว่าจะใช้ข้อสอบใดจึงจะเหมาะสม เพราะการเคลียร์ริ่งเฮาส์เป็นวิธีการให้ ให้มหาวิทยาลัยส่งรายชื่อนักเรียน เพื่อยืนยันสิทธิ์ในระบบร่วมกัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าหลังการรับตรงมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีที่ว่างในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชันเท่าไร” นางวราภรณ์ กล่าว
นางวราภรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้ ทปอ. ไปหารือกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตรแห่งประเทศไทย (กสพท.) ให้จัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ก่อนการจัดสอบอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาพบว่านักเรียนที่สอบติดในคณะอื่น เมื่อรู้สอบติดแพทย์ก็จะสละสิทธิ์คณะที่สอบติดเพื่อมาเรียนแพทย์ทำให้เป็นการกันสิทธิ์นักเรียนคนอื่น ดังนั้น หาก กสพท. จัดสอบและประกาศผลก่อนนักเรียนก็จะได้ตัดสินใจและไม่ต้องสอบหลายที่
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่