xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ข้อสอบระดับชาติมีเนื้อหาที่เด็กเรียนน้อยกว่าครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้ นร. กว่า 36% มองว่าข้อสอบระดับชาติสอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนน้อยกว่าครึ่ง และกว่า 81% ระบุว่าเนื้อหาในบทเรียนมีส่วนคำคัญต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็ก

สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา เปิดเผยผลสำรวจผลวัดระดับความรู้ของนักเรียนจากการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติของนักเรียน ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,088 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 16-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 37.41 ซึ่งส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 33.64 โดยจากการสอบถามถึงความรู้เกี่ยวกับการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติที่รู้จักหรือเคยได้ยิน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ รู้จักการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ร้อยละ 92.2 รองลงมารู้จักการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ร้อยละ 90.63

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 52.48 เคยเข้าสอบ O-NET และ GAT/PAT มาแล้ว 2 ประเภท ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.09 เคยเข้าสอบมาแล้ว 1 ประเภท ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.12 ทราบวัตถุประสงค์ของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติที่ตนเองเคยเข้าสอบ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 38.88 ยอมรับว่าไม่ทราบ ส่วนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบสองในสาม หรือคิดเป็นร้อยละ 65.17 ทราบว่าสายการศึกษาที่ตนเองกำลัง/เคยศึกษาต้องเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติประเภทใดบ้าง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.83 ไม่ทราบ

เมื่อถามถึงประสบการณ์การเข้าสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 36.21 ระบุว่าจากประสบการณ์ที่เคยเข้าสอบการทดสอบมีความคิดเห็นว่าเนื้อหาข้อสอบน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาบทเรียนที่ได้เรียนมา รองลงมาระบุว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาบทเรียนที่เรียนมาประมาณครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.8 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 48.71 และร้อยละ 47.7 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะมีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาไทยได้

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 36.31 และร้อยละ 36.58 คิดว่าไม่มีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้และศักยภาพให้นักเรียนนักศึกไทยได้ตามลำดับ ขณะเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 49.08 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติมีความจำเป็นแค่บางประเภท ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 22.98 คิดว่ามีความจำเป็นทุกประเภท ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.08 ที่ระบุว่าไม่มีความจำเป็นเลย

ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.32 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะไม่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความสนใจ/ตื่นตัวในการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.62 และร้อยละ 46.69 ยอมรับว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีความเครียดและมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากขึ้นตามลำดับ สำหรับความคิดเห็นต่อการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.34 มีความคิดเห็นว่าการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับปริญญาตรีขึ้นไปไม่มีความจำเป็น

สิ่งสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าต้องคำนึงถึงในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาสูงสุด 3 อันดับได้แก่ เนื้อหาบทเรียน คิดเป็นร้อยละ 81.71 วิธีการจัดการเรียนการสอน คิดเป็นร้อยละ 79.23 และคุณภาพ/วิธีการสอนของครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 76.38
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น