สธ. ฝึกซ้อมเข้มตรวจค้นผู้ป่วยโรคเมอร์ส-โควี การจัดระบบส่งต่อ ยันการป้องกันติดเชื้อใน รพ. ระบุต้องเฝ้าระวังเข้ม เหตุมีผู้ป่วยต้องสงสัยแล้ว 17 ราย แต่ยังไม่พบการติดเชื้อ เตือนไปตะวันออกกลาง เลี่ยงสัมผัสและไม่ดื่มนมอูฐ
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี (MERS-CoV) ว่า การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นการฝึกระดับกระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบการฝึกปฏิบัติจริง (Drill Exercise) เพื่อเตรียมความพร้อม 3 ประเด็น คือ 1. การตรวจค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสในระยะเริ่มต้น 2. ซักซ้อมความเข้าใจระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม และ 3. ระบบการป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง และขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วย
“หากพบผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งที่สำนักระบาดวิทยาทันที พร้อมให้ อสม. และ อสม. ฮัจญ์ ติดตามอาการผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางเป็นเวลา 14 วัน ส่วนสถานพยาบาลที่พบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคนี้และไม่มีความพร้อมดูแล ให้แจ้งมายังศูนย์ประสานส่งต่อ กรมการแพทย์ ในเขต กทม. จัดไว้ 4 แห่ง คือ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และสถาบันโรคทรวงอก ส่วนต่างจังหวัดจะมีที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ชุมชน” ปลัด สธ. กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control) ตั้งแต่ เม.ย. 2555 - 6 พ.ค. 2557 พบผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 495 ราย เสียชีวิต 141 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 28.48 ใน 17 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ตูนิเซีย อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กรีซ อียิปต์ สหรัฐอเมริกา และเยเมน โดย เม.ย. 2557 มีรายงานผู้ป่วยสูงถึง 288 ราย สำหรับไทยมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง รวม 17 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติยืนยันยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
“ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือคนมีภูมิต้านทานต่ำ ควรระวังเป็นพิเศษเพราะจะมีอาการป่วยรุนแรง ขอให้หลีกเลี่ยงการเที่ยวชมฟาร์ม พื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ตลาดที่มีอูฐอยู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ การดื่มน้ำนมดิบจากอูฐที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการล้าง ปอกเปลือก ควรล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หากจำเป็นควรใส่หน้ากากป้องกันโรค หากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบพบแพทย์ และหลังกลับถึงเมืองไทยภายใน 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ” อธิบดี คร. กล่าว
พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถาบันฯจะรับผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์ส-โควี จาก 3 ทาง คือ การแจ้งจากด่านควบคุมโรค การส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่น และผู้ป่วยเดินทางมาเอง โดยสถาบันมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องมือทางการแพทย์ และห้องแยกโรคชนิดพิเศษที่เป็นห้องเดี่ยวจำนวน 5 ห้อง ซึ่งจะเป็นที่กักกันเชื้อโรคออกสู่ภายนอก สามารถดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤตได้ และมีระบบติดตามดูแลผู้ป่วยด้วยกล้องวงจรปิดและสัญญาณชีพ เพื่อที่แพทย์และพยาบาลจะเข้ามาเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น เป็นการลดอัตราเสี่ยงในการติดเชื้อ