xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงห่วง นร.กำชับ สพฐ.ห้ามใช้อาคารเพดานเตี้ยเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมเด็จพระเทพรัตนฯ” ทรงห่วง นร. เดือดร้อนเหตุแผ่นดินไหว ทรงกำชับ สพฐ. ไม่ใช้อาคารเพดานเตี้ยเป็นที่เรียนชั่วคราวกับ นร. ห่วงอากาศร้อนเด็กเรียนไม่ไหว ขณะที่ สพฐ. สนองพระกระแสรับสั่งย้ำทุกโรงใช้อาคารประกอบหลังคาสูง รวมถึงอาคารน็อกดาวน์ พร้อมสรุปยอด ร.ร. เสียหายเพิ่มเป็น 61 โรง และส่งวิศวกรสำรวจความเสียหายอาคารเรียนทุกโรง หวั่นถล่มทับเด็ก คาดใช้งบซ่อมแซมและสร้างใหม่ประมาณ 500 ล้านบาท

วันนี้ (15 พ.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดลพบุรี พระองค์ทรงห่วงใยนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งบางโรงเรียนมีอาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว จำเป็นต้องทุบทิ้ง หรือซ่อมแซมก่อน ระหว่างนี้โรงเรียนจะจัดอาคารเรียนชั่วคราวเพื่อให้นักเรียนได้เรียน โดยสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าไม่อยากให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สร้างอาคารเรียนชั่วคราวที่มีหลังคาเตี้ย หรือดัดแปลงอาคารที่หลังคาไม่สูงมาเป็นอาคารเรียนชั่วคราว เพราะช่วงนี้อากาศร้อนมาก ทรงห่วงว่าถ้าใช้อาคารหลังคาเตี้ยนักเรียนอาจจะเรียนไม่ไหว ทั้งนี้ สพฐ. ได้สนองพระกระแสรับสั่งดังกล่าว ได้สั่งการไปยังโรงเรียนให้เลือกใช้อาคารเรียนประกอบที่มีหลังคาสูงมาเป็นอาคารเรียนชั่วคราว ส่วนอาคารแบบน็อกดาวน์ที่สร้างขึ้นเป็นที่เรียนชั่วคราวนั้นก็จะเป็นอาคารน็อกดาวน์แบบมาตรฐาน ราคาชุดละประมาณ 2 แสนกว่าบาท

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนยอดรวมโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวนั้น เนื่องจากยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโรงเรียนได้รับความเสียหายเพิ่มเป็น 61 โรงเรียน โดยเป็นโรงเรียนในอำเภอพาน 22 โรง อำเภอแม่ลาว 12 โรง อำเภอแม่สรวย 24 โรง อำเภอเวียงป่าเป้า 2 โรง และอำเภอป่าแดด 1 โรง อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงเรียนได้รับความเสียหายไม่เท่ากัน ซึ่งความเสียหายที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ กรณีมีการแตกร้าวของผนัง เสา และคาน โดยขณะนี้ สพฐ. ได้ให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบอาคารเรียนของทั้ง 61 โรง ว่า มีอาคารเรียนใดที่มีการแตกร้าวในระดับที่น่าเป็นห่วงบ้าง ซึ่งถ้าพบจะสั่งปิดอาคารเรียน ห้ามเข้าไปใช้งานเพราะห่วงว่าจะถล่มลงมาจนเป็นอันตรายต่อนักเรียนและครูได้ เมื่อการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยจึงจะอนุญาตให้เข้าไปใช้งานได้ต่อ ในส่วนของอาคารเรียนที่เสียหายอย่างหนักก็จะต้องทุบทิ้งและสร้างใหม่ทดแทน เช่นที่ โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม ซึ่งได้รับความเสียหายหนักสุดอาคารเรียนที่มีอยู่ทั้ง 3 หลังต้องทุบทิ้งและสร้างใหม่ทั้งหมด ขณะนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 36 ได้เสนอของบประมาณมาจำนวน 48 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดสร้างห้องเรียนชั่วคราวและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าของโรงเรียน เป็นต้น

“วิศวกรอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะสำรวจความเสียหายของทั้ง 61 โรงได้ครบ แต่หากยังมีอาฟเตอร์ช็อกขนาดแรงตามมา จำนวนโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นอีก และคาดว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท สำหรับซ่อมแซมและสร้างอาคารเรียนใหม่ให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ซึ่ง สพฐ. สามารถเจียดจ่ายงบประมาณเองได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่เหลือจะต้องขอใช้งบกลางประมาณ 400 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้หน่วยงานของ ศธ. ได้รับความเสียหายมากสุด เพราะเรามีโรงเรียนแทบทุกตำบล ขณะเดียวกัน อาคารเรียนส่วนใหญ่สร้างขึ้นแต่ปีพ.ศ. 2540 ซึ่งขณะนั้นเรายังไม่รู้เรื่องรอยเลื่อน จึงไม่มีการสร้างอาคารเรียนเผื่อแผ่นดินไหวไว้ แต่อาคารเรียนที่จะสร้างขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะอาคารเรียนที่อยู่ตามแนวรอยเลื่อนจะสร้างเผื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวไว้ถึง 8 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มถึง 20% จากงบสร้างอาคารเรียนตามปกติ” นายอภิชาติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น