xs
xsm
sm
md
lg

คาดเข็มขัดนิรภัยบนรถโดยสารสาธารณะ ช่วยลดเจ็บ ตาย ได้ 45%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศวปถ. ชี้ อุบัติเหตุใหญ่รถโดยสาร เจ็บแรง เฉลี่ยเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง สาหัส 4 ตาย 0.3 หนุนคาดเข็มขัดช่วยลดเจ็บ ตาย ได้ 37-45% แนะมีมาตรการรณรงค์เสริมการบังคับกฎหมาย จับปรับ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงการออกกฎหมาย เข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะว่า แต่ละปีมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เฉลี่ย 2,000 ครั้งต่อปี ข้อมูลจากบริษัท ขนส่ง จำกัด พบว่า ในปี 2549 มีผู้เสียชีวิตจากรถสาธารณะ 218 ราย แบ่งเป็น รถ บขส. 45 ราย และรถร่วมบริการ 173 ราย บาดเจ็บรวม 1,944 ราย แบ่งเป็น รถบขส. 344 ราย และรถร่วมบริการ 1,600 ราย หรือเฉลี่ยแต่ละเดือนมีผู้เสียชีวิต 18 ราย โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม สรุปว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่ 19 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บสาหัส 70 ราย เฉลี่ยทุกการเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง จะมีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 คน และเสียชีวิต 0.3 คน ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลทุกแหล่ง ยืนยันตรงกันว่า ผู้โดยสารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสเกือบทั้งหมด ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย


“จากการศึกษาพบว่า ผู้โดยสารรถสาธารณะที่คาดเข็มขัดนิรภัย จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 37-45 ซึ่งการที่กรมขนส่งทางบก กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ ยกเว้นรถเมล์ รถสองแถว ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยจะมีโทษปรับกรณีฝ่าฝืนไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่การจะบังคับใช้กฎหมายให้ได้ ผลสำเร็จจะต้องมีมาตรการรณรงค์ ควบคู่ไปด้วย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า มาตรการที่จะทำให้ การรณรงค์ให้กฎหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือ 1. ทุกสถานีขนส่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้ โดยสารจำนวนมาก 2. ผู้ประกอบการขนส่ง กำหนดระเบียบปฏิบัติ สำหรับพนักงานขับรถ และพนักงานบริการบนรถ ให้มีบทบาทกระตุ้นเตือนผู้ โดยสาร เช่น ไม่ผูกเข็มขัดไว้กับเก้าอี้ ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน สำรวจว่ามีการชำรุด หรือใช้งานไม่ได้ เพื่อปรับปรุงแก้ไข มีการฉาย VTR และเดินตรวจ พร้อมกระตุ้นให้มีการใช้เข็มขัดก่อนรถออก และมีระบบแรงจูงใจ เช่น การขอบคุณ การให้รางวัลผู้โดยสารที่คาดเข็มขัดนิรภัย

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า 3. สนับสนุนให้ผู้โดยสาร ส่งข้อมูล ข้อร้องเรียน ผ่านสายด่วน 1584 หรือ อื่นๆ ในกรณีที่ ผู้ประกอบการไม่จัดเตรี ยมความพร้อมของเข็มขัดนิรภัย 4.หน่วยงานหรือองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีรถบัส รถตู้สารสาธารณะ เพื่อรับส่งพนักงาน ควรเป็น “ต้นแบบ” ในด้านความปลอดภัย โดยส่งเสริมหรือเป็นกฎระเบียบให้บุคลากรในองค์กร ที่ใช้รถที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้ ต้อง “คาดเข็มขัดนิรภัย” เมื่อเดินทาง และ 5. กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ควรสนับสนุนให้มีการจัดทำ หรือจัดประกวดสื่อ ในหัวข้อ “เข็มขัดนิรภัย-รถสาธารณะ” เพื่อเป็นสื่อต้นแบบ และสร้างกระแสสังคม ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น