xs
xsm
sm
md
lg

คาดสงกรานต์ตาย 334 ราย คอทองแดงเสียว! คร.เสนอห้ามขายเหล้าวันพระทั่วไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคคาด 7 วันอันตรายสงกรานต์ตายสูง 334 ราย แนะเดินหน้า 5 เสาหลัก 4 มาตรการ เชื่อลดตายได้ 20% เผยเตรียมเสนอห้ามขายเหล้าวันพระทั่วไป เพิ่มจากวันพระใหญ่ หวังสร้างความคุ้นเคย ระบุสออุบัติบเหตุรถทัวร์ 2 ชั้น 3 ราย พบป้ายบอกทางไม่ชัด จี้พื้นที่แก้ไข พร้อมจ่อตรวจมาตรฐานรถ 2 ชั้น 4 หมื่นคัน
แฟ้มภาพ
วันนี้ (31 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุม DDC Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง “ย้อนรอยอุบัติเหตุ...ลดตายสงกรานต์” ว่า คนส่วนใหญ่มักมองปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องปกติธรรมดาและไกลตัว แต่ที่จริงแล้วพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงมาก โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีละ 300 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 50 คน โดยถนนที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือ ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.9 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.7 เกิดบนถนนทางตรงร้อยละ 64.9 ทางโค้งร้อยละ 19.7 สาเหตุเกิดจากการเมาสุราร้อยละ 39.1 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23.6 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 14.00-20.00 น.ซึ่งเป็นช่วงออกมาเล่นสงกรานต์และมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ คาดว่า สงกรานต์ปี 2557 จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 268-334 ราย

นพ.โสภณ กล่าวว่า วิธีป้องกันอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ คร.เสนอให้ใช้ 5 เสาหลัก กับ 4 มาตรการ โดย 5 เสาหลักเป็นนโยบายระดับชาติ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3.ยานพาหนะปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ 5.การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งแต่ละเสาหลักก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เช่น กรมขนส่งทางบก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วน 4 มาตรการนี้มาจากการสรุปเหตุการณ์สงกรานต์ ปี 2556 และปีใหม่ 2557 โดย คร.เสนอให้ดำเนินการดังนี้ 1.สนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีฐานวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาปัจจัย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ตนเอง เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน 2.สนับสนุนการประชาสัมพันธ์สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 3.สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประชาสัมพันธ์การห้ามขายสุราและสุ่มตรวจร้านค้าที่จำหน่ายสุราในช่วงเวลาและสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยมีสินบนนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสกระทำผิด และ 4.การมีส่วนร่วมของชุมชน มีมาตรการลดอุบัติเหตุในชุมชน หรือมีการตั้งด่านตรวจชุมชนอย่างจริงจังในช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างเวลา 16.00-22.00 น.ซึ่งหากดำเนินการตามนี้คาดว่าจะสามารถลดการเสียชีวิตจากที่คาดการณ์ไว้ได้ 20% หรือมีผู้เสียชีวิตประมาณ 257 ราย

นพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ ผอ.สำนักโรคไม่ติดต่อ คร.กล่าวว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุปีใหม่ 2557 พบว่า 31 ธ.ค. 2556 เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เกิดช่วงเวลา 17.00-21.00 น.มากที่สุด สาเหตุคือเมาแล้วขับ โดยรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ เกิดในถนนตามหมู่บ้านมากที่สุด ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุสงกรานต์ปี 2556 พบว่า วันที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ วันที่ 13 เม.ย.เกิดช่วง 14.00-20.00 น.มากที่สุด สาเหตุเมาแล้วขับ เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุดเช่นกัน โดยกลุ่มอายุที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 15-25 ปี ดังนั้น หากสามารถคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีได้ ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งสถานที่ที่ยังมีปัญหาคือตามร้านขายของชำ ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น ก็เสนอให้ผู้นำชุมชนตั้งด่านตรวจ ซึ่งยืนยันว่าจะเป็นลักษณะป้องปราม ไม่มีการเก็บค่าปรับหากกระทำผิด เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดี คร.กล่าวว่า กระบวนการสืบค้นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุคือ การนำข้อมูลหลังเกิดอุบัติเหตุแล้วมาวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุ จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษานั้น เป็นประเด็นสำคัญ จากการสอบสวน 3 กรณีคือ 1.รถทัวร์ 2 ชั้นตกเหวที่เพชรบูรณ์ เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด มีการดัดแปลงรถและผ่านการใช้งานมากว่า 40 ปี รวมถึงทางไม่ชัดเจน 2.รถนักเรียน 2 ชั้นชนที่ปราจีนบุรี เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด เบรกไม่ทำงาน และ 3.รถทัวร์ 2 ชั้นตกข้างทางที่ตาก เกิดจากป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีรถ 2 ชั้นอยู่ประมาณ 4 หมื่นคัน กำลังดำเนินการตรวจว่ามีการต่อเติมอย่างถูกต้องเท่าไร ไม่ถูกต้องเท่าไร เพื่อรวบรวมข้อมูลแล้วเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาเรื่องรถ 2 ชั้น ส่วนประเด็นความเก่าของรถหรืออายุการใช้งานนั้นอยู่ที่การดูแลรักษา โดยเฉพาะเรื่องยาง เบรก และอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย

นพ.นพพร กล่าวว่า สำหรับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้มีการห้ามขายตามวัน เวลา แก่บุคคล และสถานที่ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อยู่แล้ว แต่การจะห้ามขายเลยในวันสงกรานต์หรือปีใหม่ตามที่หลายฝ่ายเสนอนั้นยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังมีปัญหากระทบในเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ ที่พยายามเร่งดำเนินการคือ การห้ามขายเหล้าในวันพระทั่วไปนอกเหนือจากวันพระใหญ่ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น