โดย...กิตติศักดิ์ อ้อมชาติ
ว่ากันว่าผู้ที่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาที่ 2 และ 3 ได้อย่างคล่องแคล่ว ย่อมได้เปรียบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการหางานทำ กระทรวงศึกษาธิการตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงร่วมกับเจ้าของภาษา เพื่อช่วยติดจรวดด้านภาษาให้นักเรียน นักศึกษาไทย
เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ศึกษาแบบอย่างการจัดรูปแบบการเรียนการสอนโดยได้เข้าพบกับ H.E. Yuan Guiren รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, E.Xu Lin ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ฮั่นปั่น
นายจาตุรนต์ กล่าวหลังเข้าพบกับ HE Yuan Guiren ว่า ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งสองฝ่าย โดยขณะนี้มีนักศึกษาไทยมาเรียนที่จีนกว่า 20,000 คน มากเป็นอันดับ 3 ของนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในจีน ส่วนนักศึกษาจีนที่มาเรียนเมืองไทยมีประมาณ 12,000 คน นอกจากนี้จีนได้ตั้งสถาบันขงจื่อในสถาบันการศึกษาของไทยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีจำนวนอาสาสมัครจีนที่ส่งเข้ามาสอนภาษาในเมืองไทยมากที่สุดอันดับ 1 ของโลกถึง 1,688 คน อย่างไรก็ดี ในการหารือครั้งนี้ ไทยได้เสนอต้องการขยายความร่วมมือใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ควรตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมา 1 คณะ เพื่อติดตามความร่วมมือในระดับต่างๆ ต่อไป 2. ความร่วมมือระดับอุดมศึกษา ควรจะขยายเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ แต่ยังมีมหาวิทยาลัยไทยอีกหลายแห่งที่ต้องการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของจีน จึงต้องหาระบบ วิธีการ และการประสานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกัน 3. ความร่วมมือระดับอาชีวศึกษา ไทยกำลังยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษา โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เพราะขณะนี้ไทยมีนักลงทุนชาวต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งจีนด้วย
4. การแลกเปลี่ยนครู/นักเรียนนักศึกษา แนวโน้มจะมีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมการเรียนการสอนภาษาจีน เพราะถือเป็นนโยบายที่สำคัญของไทย 5. การเรียนการสอนภาษาจีนในไทย ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของรัฐที่สอนภาษาจีนประมาณ 1,000 แห่ง โรงเรียนเอกชนประมาณ 800 แห่ง มีจำนวนผู้เรียนภาษาจีนทั่วประเทศประมาณ 800,000 คน จึงต้องพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาจีนให้มาก รวมถึงขอให้จีนส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวางระบบการสอนภาษาจีนในไทยด้วย และ 6. ไทยจึงต้องการส่งคณะผู้เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนและหารือถึงความสำเร็จของจีนซึ่งผลการหารือกระทรวงศึกษาธิการของจีนยอมรับข้อเสนอในทุกข้อ
นอกจากนั้น ได้มีการขอความร่วมมือให้ HANBAN พิจารณาส่งอาสาสมัครของจีนไปสอนที่ไทยให้เร็วขึ้น ก่อนเปิดภาคเรียนช่วงเดือนพฤษภาคม รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญไปออกแบบระบบการเรียนการสอนภาษาจีน เพื่อให้คนไทยสื่อสารภาษาจีนใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา
...เชื่อว่าไทย-จีน ผนึกกำลังพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาต่อเนื่องถึงมหาวิทยาลัย ในอนาคตเยาวชนไทยจะเชี่ยวชาญภาษาจีนอย่างแน่นอน