xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเพิ่มทักษะแรงงานต่างด้าว เอื้อการทำงานภาคบริการ-อุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพร. เดินหน้าเพิ่มทักษะต่างด้าวแก้ขาดแคลนแรงงาน ส่งเสริมภาคบริการ อุตสาหกรรม ขณะที่ ผู้ประกอบการระบุ พื้นที่แม่สอด ขาดแคลนช่างกลึง ช่างไฟฟ้า ฯลฯ ระบุแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มีน้อยเหตุส่วนใหญ่กลับบ้านและเลือกทำงานในกรุงเทพฯ

นายวีรศักดิ์ ลดาคม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อตรวจติดตามและประเมินผลการฝึกอบรมหลักสูตรการซ่อมจักร ที่บริษัท ที.เค.แม่สอดการ์เม้นท์ จำกัด และการฝึกหลักสูตรการยกระดับฝีมือ การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ที่ห้างหุ้นส่วนแม่สอด เซรามิค จำกัด ตามโครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ (ลาว กัมพูชา เมียนมาร์) โดย กพร. ร่วมกับ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้น ว่า สิ่งที่ต้องการคือส่งเสริมทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรม การที่ไทยขาดแคลนแรงงานทำให้บางอุตสาหกรรมต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ขณะเดียวกัน ในบางอุตสาหกรรมก็นำแรงงานต่างด้าวมาทำงานและจำนวนมาก ซึ่งการที่เราเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานต่างด้าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาแรงงานไทยที่อยู่ในระดับหัวหน้างานด้วย โดยหวังว่าจะมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการเยี่ยมชมสถานประกอบการเห็นว่าหากแรงงานไร้ฝีมือก็อยากจะให้ตากเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เพิ่มตามระดับความสามารถ แต่หากแรงงานมีฝีมือก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ได้ค่าตอบแทนตามฝีมือของตัวเองและยังสามารถต่อยอดในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ อยากจะขยายศูนย์ฝึกอบรมที่จ.สงขลา และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ให้มีการฝึกอบรมให้ได้จำนวนมากกว่านี้แต่ติดขัดในเรื่องของงบประมาณ

ด้าน นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน จำกัด แม่สอด เซรามิค อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมการผลิตเซรามิก การจ้างแรงงานหนึ่งคนที่มีศักยภาพ ราคาสูง ยังดีกว่าการเปลี่ยนแรงงานบ่อยแต่ราคาถูก เพราะช่วยลดต้นทุนการสูญเสียของชิ้นงานได้ ตลาดการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วนคู่แข่งของไทยคือจีน เพราะราคาถูกกว่าไทย และรัฐบาลส่งเสริม เราจึงพัฒนาการออกแบบ ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันกับจีน โดยคำนึงถึงความต้องการในต่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานและคุณภาพของไทยจึงยังสามารถแข่งขันได้ ส่วนการทำงานแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยสามารถทำงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนแรงงานในโรงงานแห่งนี้นั้นมีทั้งหมด 900 คน แบ่งเป็นแรงงานพม่าร้อยละ 70 และแรงงานไทยร้อยละ 30 แต่ก็พยายามจะนำแรงงานท้องถิ่นมาทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งดูแลแรงงานให้มีสวัสดิการที่ดี มีคุณภาพชีวิตและมีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์

นายชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า อัตราการว่างงานใน อ.แม่สอด คิดเป็นร้อยละ 0.8 หรือประมาณ 2,000 คน จากจำนวนวัยแรงงาน 300,000 คน ขณะที่ประชากรในพื้นที่มีทั้งหมด 500,000 คน ซึ่งในพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานด้านช่าง เช่น ช่างกลึง วิศวะ ช่างไฟฟ้า ช่างกล เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังขาดแคลนแรงงานระดับล่างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแรงงานพม่ากลับบ้านและบางส่วนมีค่านิยมไปทำงานในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 จะเดินทางเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งช่วงเดือนเมษายนจะเป็นฤดูกาลเคลื่อนย้ายแรงงานของแรงงานพม่าและกะเหรี่ยง เพราะเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 40,000 - 50,000 คน ภาคบริการกว่า 10,000 คน และแรงงานภาคการเกษตร 20,000-30,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่อยากเข้าสู่ระบบเพราะเป็นการมาทำงานตามฤดูกาล แต่ด้วยกฎหมายที่ไม่เปิดให้แรงงานไม่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมาทำงาน จึงมีบางส่วนยอมเข้าสู่ระบบแต่บางส่วนก็ยังลักลอบทำงานอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้อนุญาตแรงงานต่างด้าวมาทำงานแบบมาเช้าเย็นกลับได้” นายชัยยุทธ กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น