xs
xsm
sm
md
lg

ปี 56 แรงงานเข้าฝึกอาชีพภาคบริการมากสุด ผลสำรวจแนะพัฒนาหลักสูตร-เครื่องจักร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดี กพร.เผยปี 56 พัฒนาทักษะฝีมือ-ภาษาแรงงานไทย 5 สาขาอาชีพทั้งภาคบริการ อุตสาหกรรมศิลป์ ช่างเครื่องกล ช่างไฟฟ้า ก่อสร้างและอุตสาหการได้กว่า 3 แสนคน ผลสำรวจผู้ประกอบการ-แรงงาน แนะปรับปรุงหลักสูตรให้หลากหลาย เครื่องจักรทันสมัย เพิ่มงบรองรับ

วันนี้ (20 ม.ค.) นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.มีนโยบายพัฒนาแรงงานไทยสาขาต่างๆ ให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ในปี พ.ศ.2558 โดยผลสรุปการดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 พบว่าสาขาที่มีแรงงานเข้ารับการฝึกอบรมมากที่สุดไดแก่ สาขาอาชีพภาคบริการ เช่น การบริหารและการจัดการเชิงธุรกิจ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร การใช้ภาษา รวมทั้งหมด 179,369 คน รองลงมาคือ สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ เช่น ช่างหัตศิลป์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสิ้น 48,577 คน สาขาอาชีพช่างเครื่องกล เช่น ช่างยนต์ พนักงานควบคุมยานยนต์ รวมทั้งหมด 23,966 คน สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสิ้น 23,299 คน สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง เช่น ช่างไม้และก่อสร้าง ช่างปูนก่อสร้าง ช่างเครื่องเรือน รวมทั้งสิ้น 18,439 คน และสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ เช่น ช่างเชื่อม ช่างกลโรงงาน รวมทั้งหมด 15,596 คน

อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาทักษะด้านภาษาพบว่า แรงงานไทยนิยมเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษมากที่สุด รองลงมาเป็นภาษาเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนภาษาในกลุ่มประเทศเอซีก็ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องและต้องการให้ฝึกอบรมภาษาอื่นๆ เช่น เยอรมัน รัสเซีย นอกจากนี้ กพร.ยังได้สำรวจความต้องการในการพัฒนาทักษะฝีมือและภาษาให้แก่แรงงานทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและแรงงานไทยโดยภาพรวมได้มีข้อเสนอแนะให้ กพร.จัดทำหลักสูตรทั้งด้านพัฒนาภาษาและทักษะฝีมือให้มีความหลากหลาย การสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีการเพิ่มเติมหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับผู้ให้บริการด้านนวดและสปาเพื่อรองรับเอซี

ขณะเดียวกันยังได้เสนอให้ปรับปรุงเครื่องจักรในการฝึกอบรมให้มีความทันสมัย จัดวิทยากรภาคเอกชนและเจ้าของภาษาจริงๆ มาให้ความรู้ อีกทั้งควรเพิ่มเติมการให้เรียนรู้นอกสถานที่ให้มากยิ่งขึ้นและเพิ่มงบประมาณการฝึกอบรม เนื่องจากบางสาขาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ และควรพัฒนาให้แรงงานให้สามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ด้วย

กพร.จะนำข้อเสนอแนะข้างต้นมาปรับปรุงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือและภาษาให้แก่แรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานประกอบการในพื้นที่อย่างจริงจังและให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่สถานประกอบการที่สนับสนุนและดำเนินกิจกรรมพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง” นายนคร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น