xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหว ระบบความปลอดภัย หน้าที่ใครดูแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
โดย...กิตติศักดิ์ อ้อมชาติ

นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงขยายวงกว้าง ดังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายตื่นตระหนกตกใจกันถ้วนหน้า เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครรู้และไม่มีการคาดเดา หรือมีการเตือนล่วงหน้ามาก่อน แรงของการสั่นสะเทือนทำให้อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลาย เกิดรอยร้าว และมีแนวโน้มที่จะถล่มลงมา เรียกได้ว่าสร้างความหวาดระแวงเดือดร้อนกันอย่างมาก เกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัย

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นถึงการเอาตัวรอดที่เป็นไปด้วยวิธีที่ถูกต้องบ้างผิดบ้าง แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายร้ายแรงนัก ซึ่งขณะที่เกิดเหตุการณ์บ้างพักอาศัยอยู่ในบ้าน บ้างกำลังเพลิดเพลินในการท่องเที่ยว บ้างกำลังสนุกสนานกับการเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงมาก เนื่องมีจำนวนคนค่อนข้างหนาแน่นและเสี่ยงต่อการเอารอดจากอันตรายได้น้อย แต่วิธีที่จะช่วยให้ลดปัญหาการเกิดอันตรายอันดับต้นๆ คือ การเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดที่ถูกต้อง ซึ่งจากการได้ดูคลิปที่บันทึกเหตุการณ์ในวันดังกล่าว เป็นการหนีเอาตัวรอดที่เรียกได้ว่าชุลมุนต่างคนต่างรีบหนีเอาตัวรอดด้วยความตื่นตกใจ โดยเลือกใช้บันไดเลื่อนในการลงจากตึกสูง ซึ่งอันที่จริงแล้วการใช้วิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยง ควรใช้บันไดหนีไฟในการออกจากพื้นที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้ในระดับหนึ่ง

แม้ว่าการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นคืออยู่ในสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมตัวของประชนชนจำนวนมากๆ ควรมีผู้ที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัย เช่น รปภ. หรือ จป.วิชาชีพที่จะต้องทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายน้อยที่สุด จากการสอบถามถึงกระบวนการรับมือและดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. จากนายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้อธิบายในเรื่องนี้ว่า การเกิดแผ่นดินไหวถือว่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ไม่บ่อยนัก จึงทำให้การอบรมแผนเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวมีเพียงส่วนน้อย ซึ่งหลักๆ แล้วจะมุ่งเน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัยจากการทำงาน ความปลอดภัยจากอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ทำงานมากกว่า รวมถึงการป้องกันสิ่งที่อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการเปิดอบรมหรือสอดแทรกการเรียนการสอนในการรับมือการเกิดแผ่นดินไหวต่อไปในอนาคต

ด้านนางสาวรัตนาภรณ์ อัสดร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยวิชาชีพ เล่าว่า ส่วนใหญ่หน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของ จป. จะมุ่งเน้นด้านการทำงานในสถานประกอบการ ดูแลความปลอดภัย ควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย เช่น สารเคมีรั่วไหล การเกิดอัคคีภัย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่อาจชำรุดและมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ส่วนการรับมือแผ่นดินไหวนั้นยอมรับว่ามีการเรียน หรืออบรมค่อนข้างน้อย เนื่องจากประเทศไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากการจำลองสถานการณ์ก็อาจไม่ค่อยสมจริงเท่าที่ควรส่งผลให้ประสบการณ์การรับมือน้อยตามไปด้วย แต่ในหลายประเทศที่เกิดเหตุการณ์บ่อยๆ น่าจะมีมาตรการการดูแลวิธีการลดความเสี่ยงได้มากกว่าประเทศไทยเช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมีการกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ความพร้อมในทุกด้านหมายถึงมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ เช่น การวางนโยบายป้องกันของภาครัฐ กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อุปกรณ์เตือนภัย สถานที่สำหรับรองรับเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลควบคุม ตลอดจนตัวบุคคลเองก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเช่นกัน เช่น การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อประสบเหตุ การเตรียมซักซ้อมและเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ อาจศึกษาได้จากตัวประเทศที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จะมีการเตรียมความพร้อมอย่างดีทั้งในเรื่องของนโยบายภาครัฐ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยหรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด มาตรการเตือนภัยและอุปกรณ์ที่ใช้ การออกแบบอาคารพักอาศัยและอาคารสาธารณูปโภคต่างๆ จะมีข้อกำหนดขึ้นเฉพาะ เพื่อความปลอดภัย การตระหนักของประชาชนภายในประเทศ มีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมทำความเข้าใจการปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่ยากจะประเมินเช่นเหตุแผ่นดินไหวแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น ก็ยังสร้างความเสียหายไม่น้อย แต่ความเสียหายที่เห็นอาจมีมากขึ้นมากมายถ้าการเตรียมความพร้อมไม่ดีและถูกละเลย


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น