xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 80 สาขา “หมอเชี่ยวชาญ” ที่แพทยสภารับรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัดเจนแล้วว่า แพทย์เชี่ยวชาญสาขา “เวชศาสตร์ชะลอวัย-เวชศาสตร์ความงาม” ไม่ได้เป็นสาขาที่แพทยสภาไทยให้การยอมรับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ ข่าว แพทยสภาไม่รับรอง “เวชศาสตร์ชะลอวัย-ความงาม” อ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญเสี่ยงคุก เนื่องจากเป็นสาขาที่มีการให้วุฒิบัตรเฉพาะจากต่างประเทศ แต่ปัญหาคือบางแห่งให้วุฒิบัตรกับคนที่ไม่ใช่แพทย์ และเป็นเพียงการอบรมสั้นๆ เท่านั้น แต่กลับมีการนำมาแอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย

ซึ่ง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานั้นๆ จากแพทยสภา หรือที่แพทยสภารับรอง หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับแพทยสภาและมาตรา 29 กำหนดว่าการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ และหนังสือแสดงวุฒิอื่นๆ ในวิชาชีพเวชกรรม ให้เป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา ดังนั้นผู้ที่อ้างความเชี่ยวชาญในสาขาที่แพทยสภายังไม่ได้รับรองถือว่ามีความผิดตามพรบ.วิชาชีพเวชกรรมโดยผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 28 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น หากเห็นใครแอบอ้างเป็นแพทย์เชี่ยวชาญ 2 สาขาดังกล่าวถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้นั้น พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ต้องใช้เวลาร่ำเรียนนาน 9-12 ปีเป็นอย่างน้อย ต้องสอบผ่านมาตรฐานแพทยสภา ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จึงจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ที่ประชาชนมั่นใจได้ ไม่ใช่เพียงอบรมระยะสั้นๆ และรับใบประกาศต่างๆ มาเท่านั้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต 6 ปี และศึกษาต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เสมือนการเรียนระดับปริญญาโทโดยใช้เวลาเรียนอีก 3-5 ปี จากนั้นศึกษาสาขาต่อยอดหลังจากจบจากสาขาหลักเสมือนระดับปริญญาเอก อีก 2-3 ปี

สำหรับแพทย์เชี่ยวชาญ วุฒิบัตรและอนุมัติบัตร ของแพทยสภา มีทั้ง 80 สาขา ซึ่งตามเอกสารเผยแพร่ของแพทยสภา ระบุไว้ ดังนี้

สาขาประเภทที่ 1 สาขาขาดแคลน (จบ พบ. 6 ปี ต่ออีก 3-5 ปี) มีจำนวน 12 สาขา ดังต่อไปนี้

1. จิตเวชศาสตร์
2. จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
3. นิติเวชศาสตร์
4. พยาธิวิทยากายวิภาค
5. พยาธิวิทยาคลินิก
6. พยาธิวิทยาทั่วไป
7. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
8. เวชศาสตร์ครอบครัว
9. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
10. เวชศาสตร์นิวเคลียร์
11. อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
12. อายุรศาสตร์โรคเลือด

สาขาประเภทที่ 2 หมายถึงสาขาเชี่ยวชาญทั่วไป (จบ พบ. 6 ปี ต่ออีก 3-5 ปี) มีจำนวน 26 สาขา ดังต่อไปนี้
1. กุมารเวชศาสตร์
2. กุมารศัลยศาสตร์
3. จักษุวิทยา
4. ตจวิทยา
5. ประสาทวิทยา
6. ประสาทศัลยศาสตร์
7. รังสีวิทยาทั่วไป
8. โลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก
9. รังสีวิทยาวินิจฉัย
10. วิสัญญีวิทยา
11. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงระบาดวิทยา)
12. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงเวชศาสตร์การบิน)
13. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงเวชศาสตร์ป้องกันคลินิก)
14. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงสาธารณสุขศาสตร์)
15. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงสุขภาพจิตชุมชน)
16. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงอาชีวเวชศาสตร์)
17. เวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงเวชศาสตร์ทางทะเล)
18. เวชศาสตร์ฟื้นฟู
19. ศัลยศาสตร์
20. ศัลยศาสตร์ตกแต่ง
21. ศัลยศาสตร์ทรวงอก
22. ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
23. สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
24. โสต ศอ นาสิกวิทยา
25. ออร์โธปิดิกส์
26. อายุรศาสตร์

สาขาประเภทที่ 3 สาขาต่อยอด ต้องจบ พบ. และประเภท 1 หรือ 2 ก่อน ต่ออีก 2-3 ปี มี 42 อนุสาขา แบ่งเป็น

กุมารเวชศาสตร์
1. กุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา
2. กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
3. กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา
4. กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
5. กุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
6. กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
7. กุมารเวชศาสตร์โรคไต
8. กุมารเวชศาสตร์โรคทางเดินอาหารและโรคตับ
9. กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
10. กุมารเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ
11. กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ
12. กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ

วิสัญญี
13. การระงับปวด
14. วิสัญญีวิทยาสำหรับการผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือดใหญ่ และทรวงอก
15. วิสัญญีวิทยาสำหรับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท
16. วิสัญญีวิทยาสำหรับเด็ก
17. เวชบำบัดวิกฤต

รังสีวิทยา
18. ภาพวินิจฉัยชั้นสูง
19. ภาพวินิจฉัยระบบประสาท
20. รังสีร่วมรักษาของลำตัว
21. รังสีร่วมรักษาระบบประสาท

สูตินรีเวชวิทยา
22. มะเร็งนรีเวชวิทยา
23. พยาธิสูตินรีเวชวิทยา
24. เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
25. เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ศัลยศาสตร์
26. ศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ
27. ศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า
28. ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา
29. ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
30. ศัลยศาสตร์หลอดเลือด

อายุรศาสตร์
31. โภชนศาสตร์คลินิก
32. อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซั่ม
33. อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
34. อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
35. อายุรศาสตร์โรคไต
36. อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก
37. อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
38. อายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
39. อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
40. อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
41. เวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยา
42. ตจพยาธิวิทยา

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการใช้ตำแหน่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญตามที่แพทยสภาอนุมัติ แต่ใช่ว่าการหลอกลวงจะไม่มี หากประชาขนต้องการความมั่นใจ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา http://www.tmc.or.th/service_check_doctor.php ตลอด 24 ชั่วโมง




กำลังโหลดความคิดเห็น