xs
xsm
sm
md
lg

ธรณีเขย่าทำ รพ.เสียหายหลายแห่ง สธ.ยันไม่ปิดบริการ แนะอยู่ที่โล่งปลอดภัยสุด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เผยเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายเสียหายหนักสุด โรงพยาบาลอาคารแตกร้าว ต้องอพยพคนไข้ ยันยังไม่ปิดบริการ แต่ปรับการดูแลรักษาคนไข้ให้เหมาะสม สลดแม่เฒ่าวัย 83 ปี ดับ 1 ราย ถูกกำแพงบ้านล้มทับ เตือนประชาชนตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก แนะออกจากตึกไปยังที่โล่งปลอดภัยสุด อย่าหลงเชื่อข่าวลือ





วันนี้ (6 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมสรุปผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ยังไม่มีสถานพยาบาลปิดให้บริการ เพียงแต่ปรับการบริการให้เหมาะสม ซึ่งจากการส่งกองแบบแผน กองวิศวกรรมทางการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประเมินความแข็งแรงของอาคารในสถานพยาบาลต่างๆ ร่วมกับโยธาธิการ และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พบว่า เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความเสียหายมากที่สุด มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 83 ปี ถูกกำแพงบ้านล้มทับ โดย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์พบอาคารสมเด็จย่ามีการแตกร้าว ต้องย้ายผู้ป่วยในมายังอาคารผู้ป่วยนอก ส่วน รพ.แม่ลาว อาคารแตกร้าวและทรุดจนเห็นโครงสร้างเหล็ก จึงต้องเปิดการรักษาภายนอกโดยการตั้งเต็นท์ พร้อมส่งผู้ป่วยจำนวน 17 ราย ไปรักษาต่อที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ส่วนผู้ป่วยนอกเปิดให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่บริเวณโรงรถ ส่วน รพ.พาน พบเพียงบ้านพักแพทย์มีการแตกร้าว

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.เชียงใหม่ พบโรงพยาบาลมีความเสียหายบ้าง ผนังอาคารร้าว แต่ยังเปิดให้บริการปกติคือ รพ.นครพิงค์ และ รพ.ฝาง ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. อาทิ รพ.พญาเม็งราย และ รพ.มหาราช มีรอยร้าวแต่ไม่มีผลกระทบ ส่วนพะเยา แพร่ และลำปาง ไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้ในช่วงบ่ายตนจะเดินทางไปตรวจสอบเพื่อประเมินความเสียหายและผลกระทบ

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ.ได้มีการซักซ้อมรับมือแผ่นดินไหวมาตลอด โดยเฉพาะบริเวณที่อาจเกิดได้บ่อยคือ ภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งจากการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นครั้งนี้ได้มีการดำเนินการตามมาตรการ 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ 1. ขั้นตอนเตรียมการ เตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดเหตุ 2. ขั้นตอนเผชิญเหตุ คือตั้งศูนย์วอร์รูม ระดมทรัพยากรทั้งบุคคล เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน เตรียมพร้อมหน่วยบริการ เช่น รพ.แม่ลาว มีการอพยพผู้ป่วย และเตรียมพร้อมส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่พร้อมให้บริการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความตื่นตระหนก และ 3. ขั้นตอนการเยียวยา ฟื้นฟู จะต้องมีการประเมินความเสียหายและผลกระทบ โดยเฉพาะหน่วยบริการทางการแพทย์ เพื่อปรับการบริการให้เหมาะสม

ช่วงระยะฟื้นฟูจะเห็นได้ว่ามีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกบ่อยครั้ง โดยเมื่อเวลา 10.00 น. มีรายงานว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกรวมประมาณ 120 ครั้ง แต่เบาลงเรื่อยๆ อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งขณะนี้ทีมสุขภาพจิตจาก รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ได้ขึ้นไปสื่อสารความเสี่ยงเพื่อลดความตื่นตระหนก และฟื้นฟูจิตใจแล้ว อย่างไรก็ตาม การเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีการสร้างข่าวลือมากมายทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ ขอฝากให้ประชาชนเตรียมตัวเองให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ตื่นตระหนก กลั่นกรองข้อมูลที่เชื่อถือได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ปภ. หรือกรมอุตุนิยมวิทยา ให้การดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้พิการ เตรียมพร้อมอพยพเมื่อมีประกาศจากทางการ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขอให้ดูแลตัวเองก่อน อย่าตื่นตระหนก ฟังหัวหน้าทีม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่” รองปลัด สธ. กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดคือ เตรียมตัวเตรียมใจและหาข้อมูลว่าเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ โดยจุดที่ไม่ปลอดภัยคืออาคารสูง ที่ไม่มีฐานรากรับมือแผ่นดินไหว เมื่อเกิดการไหวจะต้องออกจากตึกไปอยู่ในที่โล่งให้เร็วที่สุด ไปยังจุดรวมพล จุดปลอดภัย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันบรรเทาสาธารณภัยดูแล หากจะอยู่ในบ้านหรือที่พักเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแบบไม่รุนแรงได้นั้น จะต้องมีการเตรียมพร้อมข้าวของ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง เป็นต้น ให้ไม่สามารถเลื่อนไหล หรือหล่นจนมีโอกาสทับเจ้าของได้ ซึ่งเห็นควรว่าในอนาคตบริเวณพื้นที่เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวควรมีการเตรียมการในเรื่องนี้ รวมถึงตึกสูงใน กทม. นอกจากนี้ ต้องมีการซ้อมแผนว่า ถ้ามีแผ่นดินไหวจุดปลอดภัยอยู่ที่ไหน ต้องไปอย่างไร ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สาะารณสุขขณะนี้ทำได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่มักจะอพยพก่อน แต่เหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีการเตรียมการอพยพดูแลคนไข้อย่างดี




กำลังโหลดความคิดเห็น